แบงก์ชาติอีสาน จัดสัมมนา ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”
5 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 09.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัมมนาประจำปี 2566 “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”
ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงิน นโยบาย ธปท. รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อการวางแผนของภาคธุรกิจและครัวเรือน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อยกระดับและขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางออนไลน์ (online) และ ณ สถานที่จัดงาน (onsite) โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วง
ในช่วงแรก เป็นช่วง Perspectives ในหัวข้อ “ชวนคุยทิศทางเศรษฐกิจ ชวนคิดปรับโครงสร้างภาคเกษตรอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. นำเสนอผลประมาณการเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจอีสานบางช่วงแตกต่างไปจากประเทศ รวมทั้งยังไม่มีการเผยแพร่ประมาณการไปข้างหน้า ทำให้การพิจารณาเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจประเทศอาจไม่สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค ธปท.สภอ. จึงได้ศึกษาและจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคที่ให้มุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งผลประมาณการเศรษฐกิจอีสานปี 66 คาดว่าหดตัวในช่วงร้อยละ -2.0 ถึง -1.0 โดยหดตัวเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นภาคก่อสร้าง และปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.4-1.4 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับประเทศ โดยเฉพาะกิจกรรมหลักที่อีสานพึ่งพิงมากถึง 1 ใน 3 ได้แก่ ภาคเกษตรและการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรหดตัวจากสถานการณ์ภัยแล้ง เช่นเดียวกับด้านรายได้สุทธิของครัวเรือนในภาคอีสาน ปี 66-67 ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรที่มีมากถึง 4.3 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ GRP ที่ขยายตัวต่ำใน 2 ปีนี้ สะท้อนปัญหาเรื้อรังของโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรที่ผลิตภาพลดต่ำลงตลอดในช่วง 5 ปีหลังนี้ นอกจากนี้ ธปท. สภอ. ได้พัฒนาเครื่องชี้ Well-being Index สะท้อนความกินดีอยู่ดีของคนในอีสาน พบว่า แม้มิติด้านรายได้และการจ้างงานโดยรวมอีสานต่ำกว่าระดับประเทศ แต่ด้านความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐานมีความโดดเด่นกว่าภาพรวมประเทศโดยเปรียบเทียบ
สะท้อนถึงโอกาสในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในอีสานในระยะข้างหน้า ท้ายสุด ธปท.สภอ. ให้ความสำคัญยิ่งขึ้นกับการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินภาคอีสานในระยะยาว ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน การสนับสนุนการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาความเป็นอยู่ในพื้นที่
ช่วงที่สอง สนทนากับผู้ว่าการ เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย” ได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ฉายภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว แม้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 66 ออกมาต่ำกว่าคาดจากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี แนวโน้มในปีนี้ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ขยายตัว ทั้งนี้ ธปท. จะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ในเดือน ก.ย. 66 โดยคาดว่าจะปรับลดลงจากภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด จากการชะลอของเศรษฐกิจจีนและ Global Electronic Cycle ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว ภาพรวมยังเพิ่มขึ้นได้ตามคาด แม้นักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี คาดว่าอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดเดือน ก.ค. 66 ยังอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจอีสานฟื้นตัวช้ากว่าประเทศและทุกภาค เนื่องจากประเทศและภาคอื่นมีภาคการท่องเที่ยวมาสนับสนุน ขณะที่อีสานยึดโยงกับภาคเกษตรซึ่งมีปัจจัยกดดันจากภัยแล้ง สำหรับทิศทางนโยบายการเงินมาถึงจุดเปลี่ยนจากดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่สะดุด (Smooth take off) มาเป็นมุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจโดยรวมให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ (1-3%) และศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว (3-4%) ซึ่งมองว่ามีแนวโน้มเข้าใกล้จุดสมดุล (neutral) แล้ว
ด้านปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาคอีสานมีภาระหนี้เฉลี่ยที่ต้องจ่ายต่อเดือนมากที่สุด โดยเฉพาะหนี้ภาคเกษตรที่โตเร็วมากที่สุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับภาคอื่น และมีโอกาสจะกลายเป็นหนี้เรื้อรัง ที่ไม่สามารถปิดจบได้ รวมทั้งภาพรวมหนี้อีสานที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือน (P-loan) สูงกว่าภาคอื่น ซึ่ง ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืน อาทิ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้ นอกจากนี้ จะมีการกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ
สำหรับแนวทางการยกระดับภาคอีสาน ควรผลักดันนโยบายจากพื้นที่ (Bottom-up) ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และประชาชนในพื้นที่ ในระยะยาวเห็นโอกาสของภาคอีสานที่มีศักยภาพจาก (1) การเติบโตของเมืองที่มากกว่าภาคอื่น ๆ เช่น จากข้อมูลดาวเทียมพบว่ามีการขยายตัวของพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะในเมืองรอง (2) การค้าชายแดน ที่ระยะยาวคาดว่าจะดีขึ้น และ (3) ความได้เปรียบด้านประชากรที่มากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรผลักดันการเติบโตในอนาคต
ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณมานพ แก้วโกย ผู้บริหาร หจก. เนเจอร์ฟูดโปรดักส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง และ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญได้ 4 ข้อ ดังนี้ (1) ทำไมภาคเกษตรอีสานถึงต้องปรับเปลี่ยน โดยปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรเผชิญปัญหาสังคมสูงอายุ ทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ต่ำ อีกทั้งเป็นอาชีพที่เสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ (High Risk Low Return) กอปรกับสภาพอากาศที่ผันผวนมากขึ้น เช่น สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน ส่งผลให้ดินจะอุ้มน้ำได้น้อยลงกระทบต่อผลผลิต รวมถึงกิจกรรมการเกษตรส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ (2) อะไรเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน นโยบายภาครัฐส่วนใหญ่เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น และอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ส่งผลให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับตัว นำมาซึ่งผลิตภาพภาคเกษตรที่ลดลงมาโดยตลอด และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ภาคเกษตรที่ยังเรื้อรังทำให้เกษตรกรยังทำเกษตรรูปแบบเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการปรับเปลี่ยน (3) แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน การปรับตัวของเกษตรกรเหมือนคนทั่วไปมองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและแรงจูงใจเป็นอันดับแรก โดยปกติการปรับเปลี่ยนอาจนำมาซึ่งต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่หากทำให้เกษตรกรเห็นว่าผลดีที่จะเกิดขึ้นมีอะไรและช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผ่านรูปแบบประกันความเสียหาย จะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีมากขึ้น และ (4) ใครต้องปรับตัว ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าในการขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน จำเป็นต้องปรับตัวทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน โดยภาครัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การมี Platform รายงานคุณภาพดินแบบเรียลไทม์ ให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภาครัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านข้อมูล (Big Data) และภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำ Platform และโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ โดยเฉพาะระบบการจัดการน้ำให้ทั่วถึง ในงานมีผู้เข้าร่วมงาน กว่า 400 คน