นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างสรรค์ ” เจลลี่ดริ๊งเรืองแสง ” เครื่องดื่มรูปแบบใหม่ได้จากสีที่สกัดจากสาหร่ายของไทย สามารถเรืองแสงได้ภายใต้หลอด Black light blue fluorescent ช่วยให้เจลลี่มีสีสันที่โดดเด่นน่ารับประทาน และเพิ่มความสนุก โดยสีที่สกัดจากสาหร่ายนี้ยังมีประโยชน์ในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยากร ภูมาศ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จีรพร เพกเกาะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน กล่าวว่า ” เจลลี่ดริ๊ง เรืองแสง ” เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวุ้น น้ำ สารให้ความหวาน สารแต่งกลิ่น สารแต่งรส และสารไฟโคบิลิโปรตีน เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งสารไฟโคบิลิโปรตีนนี้ มีส่วนประกอบของสีที่เรืองแสง มีคุณสมบัติทนร้อน สกัดได้จากสาหร่ายสายพันธุ์กลุ่มไซยาโนแบคทีเรียของไทย ซึ่งปัจจุบันได้ยื่นขอรับจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สารไฟโคบิลิโปรตีน นอกจากจะให้สีสันที่โดดเด่นน่ารับประทานกับเจลลี่ดริ๊งแล้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังสามารถเรืองแสงได้ในที่มืด เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงจากหลอดไฟแบล็กไลต์
เจลลี่ดริ๊งเรืองแสงมีวิธีการทำง่ายๆ คือ นำผงวุ้นต้มละลายในน้ำ จากนั้นทำการเติมน้ำเชื่อมสารแต่งกลิ่น และสารแต่งรส ตามใจชอบผสมสารทั้งหมดละลายเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นลดอุณหภูมิของสารละลายวุ้นให้อยู่ในช่วง 45-60 องศาเซลเซียส และทำการเติมสารไฟโคบิลิโปรตีน ผสมให้เข้ากัน เทลงไปในแม่พิมพ์ หรือบรรจุในภาชนะแล้วแช่เย็นที่อุณหภูมิระหว่าง 2-5 องศาเซลเซียส จนกระทั่งวุ้นแข็งตัวอย่างสมบูรณ์จะได้ ผลิตภัณฑ์วุ้นเนื้อนิ่ม ที่มีสามารถเรืองแสงได้ภายใต้หลอด Black light blue fluorescent หรือ ที่เรียกกันว่าหลอดไฟแบล็กไลต์ ซึ่งมีขายทั่วไปตามท้องตลาด
ทั้งนี้ ไฟโคบิลิโปรตีน ที่ว่านี้ประกอบด้วย สารสีหลายชนิด โดยแต่ละชนิดก็ให้สีที่ต่างกันออกไป เช่น ไฟโคไซยาโนนิน-ให้สีฟ้า ไฟโคอีริทริน-ให้สีชมพู ทำให้สามารถสร้างสีสันได้หลากหลาย และอุดมไปได้คุณประโยชน์ต่อร่างกายมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
ส่งผลให้ “เจลลี่ดริ๊งเรืองแสง” เป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้บริโภคในวัยเด็ก หรือ วัยรุ่น ที่ต้องการความอร่อย สนุกสนาน ตื่นเต้น ความสวยงามของผลิตภัณฑ์ที่ต่างจากท้องตลาดทั่วไป รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร