คณะวิทยาศาสตร์ มข จัดกิจกรรมดูนกในโครงการ “รักษ์ป่า รักษ์นก มข. ครั้งที่ 10”

คณะวิทยาศาสตร์ มข จัดกิจกรรมดูนกในโครงการ “รักษ์ป่า รักษ์นก มข. ครั้งที่ 10”

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมดูนกใน มข. โครงการ “รักษ์ป่า รักษ์นก มข. ครั้งที่ 10” มี ผศ.ดร. วังวร สังฆเมธาวี อาจารย์ประจำหลักสูตรด้านนิเวศวิทยากับการอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นางสาวสุภาพร เทียมวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการพิเศษ และนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักศึกษาชุมนุมดูนกและศึกษาธรรมชาติ เป็นทีมวิทยากรถ่ายทอดความรู้และนำดูนก เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 เวลา 06.00 – 11.00 น. ณ บ่อบำบัดน้ำเสียรวม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมรวม 59 คน

ทีมวิทยากรได้ให้ความรู้ แนะนำเรื่องการดูนก ความสำคัญของนกต่อสิ่งแวดล้อม การจำแนกชนิดนก การใช้กล้องส่องทางไกล การจดบันทึก และการดูนกในธรรมชาติ โดยแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยและกลับมารวมกลุ่มสรุปจำนวนชนิดนกที่พบ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จากการสำรวจในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบนกทั้งสิ้น 53 ชนิด ได้แก่ 1.นกเป็ดผีเล็ก 2.นกอีล้ำ 3.เป็ดแดง 4.นกอีแจว 5.นกเด้าดิน 6.นกยางควาย 7.นกยางเปีย 8.นกยางโทนใหญ่ 9.นกยางโทนน้อย 10.เหยี่ยวแดง 11.นกพิราบป่า 12.นกเขาไฟ 13.นกเขาใหญ่ 14.นกเขาชวา 15.นกกวัก 16.นกกระปูดใหญ่ 17.นกปากห่าง 18.นกยางไฟหัวดำ 19.นกกะเต็นอกขาว 20.นกจาบคาเล็ก 21.นกแอ่นพง 22.อีกา 23.นกเอี้ยงหงอน 24.นกเอี้ยงสาริกา 25.นกกระติ๊ดขี้หมู 26.นกเด้าดินทุ่งเล็ก 27.นกอีแพรดแถบอกดำ 28.นกปรอดสวน 29.นกกระจิบหญ้าสีเรียบ 30.นกกระจอกตาล 31.นกกระจอกใหญ่ 32.นกกระจาบทอง 33.นกกระจิบธรรมดา 34.นกกระจิบหญ้าท้องเหลือง 35.นกกระติ๊ดสีอิฐ 36.นกกระแตหัวเทา 37.นกกะเต็นน้อยธรรมดา 38.นกกาเหว่า 39นกกินปลีอกเหลือง 40.นกกินแมลงกระหม่อมแดง 41.นกขมิ้นน้อยธรรมดา 42.นกตะขาบทุ่ง 43.นกตีทอง 44.นกตีนเทียน 45.นกนางแอ่นบ้าน 46.นกยางกรอกพันธุ์จีน 47.นกยางไฟธรรมดา 48.นกสีชมพูสวน 49.นกอีเสือสีน้ำตาล 50.นกแอ่นกินรัง 51.นกแอ่นตาล 52.นกนางนวลแกลบเคราขาว และ 53.นกกะเต็นปักหลัก

นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกสนุก ตื่นเต้น และดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมดูนกในโครงการ“รักษ์ป่า รักษ์นก มข. คุ้มค่ากับการที่จะต้องตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้าท่ามกลางอากาศที่สดชื่น สิ่งแวดล้อมดี พร้อมทั้งฝึกความอดทนในการที่จะต้องรอดูนกประเภทต่างๆ บินมาหรือเกาะตามจุดต่างๆ ที่วิทยากรแบ่งกลุ่มแยกไปดูนกแล้วมาสรุปร่วมกันว่าแต่ละกลุ่มพบนกชนิดใดบ้างเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำหากมีโอกาสก็จะเข้าร่วมอีกครั้งแน่นอน

สำหรับกิจกรรมดูนกเป็นกิจกรรมที่ให้ความสุข ความเพลิดเพลิน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน หรือสภาพแวดล้อมที่จำเจ บรรยากาศยามเช้าช่วยให้เราได้รับอากาศบริสุทธิ์และเสริมสุขภาพให้แข็งแรง รวมทั้งยังนำเราไปรู้จักสังเกตุสิ่งแวดล้อมรอบตัว ฝึกทักษะการสังเกตลักษณะของนกแต่ละชนิด ปลูกฝังความรักธรรมชาติ และสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ พร้อมทั้งเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าพื้นที่กว่า 5,500 ไร่ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่น่าอยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เหมาะที่จะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ และระบบนิเวศน์ได้เป็นอย่างดี



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น