“ส.ชาวเหนือขอนแก่น” จัดงานสืบสานประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัต)

“ส.ชาวเหนือขอนแก่น” จัดงานสืบสานประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัต)

สมาคมชาวเหนือจังหวัดขอนแก่น จัดงานสืบสานประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัต) ประจำปี 2566 เพื่อแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ก๋วยสลาก


เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า ที่ วัดป่าแสงอรุณ บ้านเลิงเปือย (แอวมอง) ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายศักดิ์สิทธ์ จิตตนูนท์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานบังคับคดี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประธานฝ่ายฆราวาส ทำบุญประเพณี ตานก๋วยสลาก (สลากภัต) ประจำปี 2566 ในการนี้มีพระพรหมวชิรดิลก (หลวงปู่สมาน สุเมโธ ป.ธ.9) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธ) ,เจ้าอาวาสวัดป่าแสงอรุณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งมีนายธนัฐภูมินตร์ รัตนนวราฐธิบดี นายกสมาคมชาวเหนือจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดงาน โดยมีนายปานทอง สระคูพันธ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งคณะกรรมการและสมาชิกสมาคมชาวเหนือจังหวัดขอนแก่น ตลอดจนพี่น้องชาวเหนือ และพี่น้องชาวขอนแก่น ทั้งในและนอกพื้นที่ ร่วมใจอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ร่วมใจกันใส่ชุดผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง โดยพร้อมเพรียงกัน เข้าร่วมทำบุญประเพณี ตานก๋วยสลาก (สลากภัต) ประจำปี 2566 ถวาย ในวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ขึ้น 1 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด (11) ปีเถาะ เวลา 09.00 น.จำนวนมาก


นายธนัฐภูมินตร์ รัตนนวราฐธิบดี นายกสมาคมชาวเหนือจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าสำหรับก๋วยสลากมีอยู่หลากหลายแบบหลายขนาด ตามแต่ความคิดสร้างสรรค์และกำลังศรัทธาของแต่ละคน แบ่งออกเป็น 2 แบบกว้าง ๆ คือ ก๋วยน้อย กับ ก๋วยใหญ่ มีก๋วยพิเศษ เช่น ก๋วยย้อมหรือสลากย้อม เป็นของหญิงสาวทำขึ้นเชื่อว่าเมื่อถวายแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุข ในบางท้องที่โดยเฉพาะในกลุ่มไทยองก็จะมีข้าวของเครื่องใช้มากกว่าปกติ มีหวี กระจก แป้ง ผ้าเช็ดหน้า หรือของใช้ผู้หญิงอื่น ๆ และจะกางร่มไว้บนยอดสุด
ด้าน นายศักดิ์สิทธ์ จิตตนูนท์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานบังคับคดี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประธานฝ่ายฆราวาส กล่าวว่า

งานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง และเป็นวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาและความคิดที่มีพัฒนาการสืบทอดกันมาในสังคมแต่ละช่วงเวลา และมีความสัมพันธ์กับคุณธรรม จริยธรรมในสังคม ทำให้คนในชุมชนมีความอ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน เคารพผู้ใหญ่ มีน้ำใจ มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความกตัญญูกตเวที และร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้คงอยู่สืบต่อไป.



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น