แพทย์ มข.ชวนรู้จักอาการ “โรคมะเร็งปอด” รู้ไว รักษาทัน หายขาดได้

แพทย์ มข.ชวนรู้จักอาการ “โรคมะเร็งปอด” รู้ไว รักษาทัน หายขาดได้

“โรคมะเร็งปอด”เกิดจากเซลล์ปอดปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง แล้วเพิ่มจำนวนกลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง ซึ่งปัจจัยอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ บุหรี่ แต่ปัจจุบัน มลภาวะที่เป็นพิษอย่างฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่นรายงานว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “มะเร็งปอด” กลายเป็นโรคที่ใครหลายคนสนใจ นอกจากเรื่องราวในโซเชียลมีเดียแล้ว สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มกลับมาอีกระลอกในช่วงที่อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ “มะเร็งปอด” เป็นอีกโรคที่ไม่ควรมองข้าม เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
รศ.นพ.โกสินทร์ วิระษร หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงสาเหตุของ “โรคมะเร็งปอด” ว่า เกิดจากเซลล์ปอดปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง แล้วเพิ่มจำนวนกลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง ซึ่งปัจจัยอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ บุหรี่ แต่ปัจจุบัน มลภาวะที่เป็นพิษอย่างฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาชีพที่ต้องสัมผัสหรือสูดดมสารเคมี ทำให้เนื้อเยื่อที่ปอดเกิดการกลายพันธุ์จนเป็นมะเร็ง


รศ.นพ.โกสินทร์ ระบุว่า สำหรับบางคนที่ไม่ได้สัมผัสปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ อาจเกิดโรคมะเร็งปอดได้จากพันธุกรรมที่กลายพันธุ์ของผู้ป่วยเอง ถึงแม้ว่าจะดูแลตัวเองดีก็ตาม ส่วนใหญ่โรคมะเร็งปอดจะมีอาการทางทรวงอกเป็นอันดับแรก เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยจากน้ำเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ ยังพบอาการที่เกิดจากโรคมะเร็งกระจายไปที่อวัยวะนอกช่องอก อาจกระจายไปที่สมอง ทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรงคล้ายกับอาการโรคเส้นเลือดในสมองตีบ กระจายไปที่กระดูกทำให้มีอาการปวดรุนแรง ผู้ป่วยน้อยรายมากที่ไม่มีอาการแล้วตรวจพบโดยบังเอิญ
ส่วนระยะของโรคมะเร็งปอดสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะ 1 ระยะเริ่มต้น อาจมีอาการเล็กน้อยหรือบังเอิญตรวจพบก้อนมะเร็งอยู่บริเวณปอด ซึ่งการรักษาจะใช้วิธีผ่าตัด และรักษาเสริมด้วยยาสำหรับผู้ป่วยบางราย ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดเล็กและพบแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด ซึ่งการรักษาจะใช้วิธีผ่าตัด และรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดหรือใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือยามุ่งเป้า แล้วแต่เนื้อเยื่อผู้ป่วยแต่ละราย


ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่และโรคกระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองช่องอก ต้องรักษาร่วมกัน โดยใช้รังสีรักษา เคมีบำบัดหรือยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระยะที่ 4 ระยะแพร่กระจาย พบคนไข้มากที่สุด การรักษาหลักคือยาซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมยามากขึ้น ทั้ง ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือยามุ่งเป้า และในอนาคตด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มากขึ้น จะยิ่งทำให้คนไข้มีระยะเวลาการรอดชีพเพิ่มขึ้นไปอีกหลายปีจากยารักษา
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง กล่าวอีกว่า จากข้อมูลหน่วยมะเร็ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ พบผู้ป่วยมะเร็งปอดมารักษามากขึ้นทุกปี เป็นอันดับสองรองเพียงมะเร็งตับ ซึ่งมะเร็งปอดมีโอกาสเป็นได้ทั้งชายและหญิง“หลาย ๆ คนอาจกังวลว่า ฉันไม่มีอาการ สบายดี จะป่วยเป็นมะเร็งปอดหรือเปล่า พูดตามตรง โรคมะเร็งไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายหรือเกิดได้เร็ว ดังนั้น ขอให้ทุกคนที่แข็งแรงอยู่ก็เดินหน้าดูแลสุขภาพต่อและลดปัจจัยสร้างมะเร็ง เช่น เลี่ยงบุหรี่ สุรา โอกาสเกิดมะเร็งก็จะน้อยลง”
สำหรับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และนวัตกรรมที่ครบครันในการตรวจวินิจฉัย และประเมินการรักษาเพื่อจัดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้นด้วยศักยภาพโรงพยาบาที่ให้บริการระดับสากล และศูนย์ความเป็นเลิศโรคมะเร็ง เริ่มมีโครงการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งปอด ดังนั้น ใครที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ปริมาณมาก ก็สามารถศึกษาและเข้าร่วมการตรวจคัดกรอง เพื่อให้รักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้รักษาหายขาดได้สูงมากยิ่งขึ้น


“ผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งอาจมีความเสี่ยงทางพันธุกรรม ก็สามารถเข้ารับคำแนะนำ ที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางพันธุเวชศาสตร์หรือศูนย์ความเป็นเลิศโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อรับคำแนะนำและประเมินว่ามีโอกาสจะเกิดมะเร็งได้หรือไม่ หากตรวจพบว่ามีความผิดปกติของยีนก็จะได้ป้องกันได้เนิ่น ๆ”
ทั้งนี้ รศ.นพ.โกสินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย สิ่งสำคัญอยากให้ผู้ป่วยและญาติให้กำลังใจกันและกัน หลังจากนั้นก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันมียาใหม่ ๆ ที่ควบคุมตัวโรคได้ดียิ่งขึ้น มีการรักษาแบบประคับประคอง แม้ไม่สามารถหายขาดได้ แต่ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวดูแลกันอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ป่วยในระยะนี้.



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น