“จินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น”
การผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เป็นสื่อที่สามารถพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของเด็กพิการทางการเห็น และสามารถต่อยอดเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ หอประชุม โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ละครเวทีเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิการทางการเห็น”ภายใต้โครงการจินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น พร้อมทั้งกล่าวเปิดงาน โดยมีนายประสงค์ สุบรรณพงษ์ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร
กล่าวต้อนรับประธานในพิธี แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในการนี้ นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ (หัวหน้าโครงการ)กล่าวต้อนรับ และรายงานวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ ,นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมตามสัญญาให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566กล่าวถึงภาพรวมและผลการติดตามโครงการจินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น และดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเด็นด้านคนพิการและผู้สูงอายุ
โครงการ “จินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น” จัดกิจกรรมแสดงละครเวทีเพื่อพัฒนาการเคลื่อนไหวสำหรับเด็กพิการทางการเห็น ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 ซึ่งการดำเนินโครงการในครั้งนี้ นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้รับทุนและหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายสำคัญคือ “การผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เป็นสื่อที่สามารถพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของเด็กพิการทางการเห็น และสามารถต่อยอดเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”
เนื่องจากเด็กพิการทางการเห็น ประสบปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกําลังกายอย่างจํากัด เพราะไม่สามารถเรียนรู้วิธีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระได้เหมือนเด็กทั่วไป ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขาดความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ก่อให้เกิดปัญหาด้านบุคลิกภาพและการเคลื่อนไหวในอนาคต จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกแบบกิจกรรมที่เด็กพิการทางการเห็นสามารถฝึกฝนและพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเด็กพิการทางการมองเห็นไม่มีทางเลือกในการรับสื่อสร้างสรรค์ที่หลากหลายมากนัก หรือเมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ เด็กพิการทางการเห็นจะสามารถนั่งรับฟังเพียงอย่างเดียว ซึ่งขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ที่หลากหลาย จึงเป็นที่มาให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ละครเวทีที่กระตุ้นประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางการเห็นได้ โดยออกแบบให้มีส่วนร่วมในการแสดงแบบ 5 มิติ คือ การมองเห็น การฟัง การได้กลิ่น การชิมรส และการสัมผัส
ผู้จัดทําโครงการจึงออกแบบสื่อสร้างสรรค์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สื่อการแสดงสดในรูปแบบละครเวทีที่เน้นการมีประสบการณ์ร่วม (Immersive Theatre) และ (2) สื่อละครเสียงและคลิปวิดีโอการเรียนการสอนเพื่อเป็นเครื่องมือให้ครูและผู้ปกครองสามารถนำไปพัฒนาเด็กพิการทางการมองเห็นได้ด้วยตัวเอง โดยในด้านของการออกแบบการแสดงละครที่เน้นให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วม เนื่องจากเด็กพิการทางการมองเห็นมีความจําเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้แบบมีประสบการณ์ร่วมเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและการตีความสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น ผู้กำกับละครเรื่องนี้จึงออกแบบให้เด็กพิการทางการเห็นมีส่วนร่วมในการแสดง สามารถจินตนาการไปกับการสมมุติบทบาทเป็นตัวละครต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการเรียนรู้ทักษะชีวิต ส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมเพิ่มมากขึ้น และมีการสรุปองค์ความรู้เป็นคลิปสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบวิดีโอเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครู ผู้ดูแล และผู้ปกครองสามารถนําไปประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการและทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางการเห็นที่บ้านหรือที่โรงเรียนได้เอง โดยใช้สื่อละครสร้างสรรค์ในการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากจุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการนี้ จะสร้างสื่อที่มีคุณภาพเพื่อเด็กพิการทางการมองเห็นแล้ว การออกแบบสื่อวิดีโอคู่มือเป็นสิ่งที่ได้คำนึงถึง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม สามารถเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ครู ผู้ดูแล และผู้ปกครอง สามารถใช้สื่อนี้เพื่อพัฒนาขยายเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ส่งต่อความรู้ได้ไม่จำกัด อีกทั้งเพื่อใช้เป็นต้นแบบ (Guideline) ในด้านการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ในด้านผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เชิงชุมชนและสังคมนั้น จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการเสริมสร้างทักษะของเด็กพิการทางการเห็นได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ในด้านนโยบาย ข้อมูลและแนวทางที่ได้จากโครงการนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้กำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนากิจกรรมเพื่อเด็กพิการทางการมองเห็นและเด็กผู้มีความต้องการพิเศษกลุ่มอื่น ๆ ร่วมด้วยได้
สำหรับกิจกรรม “ละครเวทีเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิการทางการเห็น” จัดแสดงในพื้นที่ 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และรอบสุดท้าย อาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร สามารถติดตามโครงการฯ ได้ที่ Facebook Page : The Little Blind Adventure (การผจญภัยในความมืด)
ข้อมูลการติดต่อ หัวหน้าโครงการ นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ (สร้อย) อาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร 065-7190904 Line ID : 034212554 E-mail : [email protected]