นครขอนแก่นลงนาม MOU สู่เมืองต้นแบบ Smart City

วันที่ 28 มิถุนายน 2560 เวลา 09.00 น. ณ ห้องภูวนารถประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมด้วย ดร.กฤษณวรุณ ไชยนิจ ปลัดเทศบาล และเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ เข้าร่วมประชุมสัมมนาในโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาท้องถิ่นสู่เมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน”  จัดโดยวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า   มีหัวข้อในการบรรยาย คือ 1.ขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ยังยืน  2.เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ยังยืน  3.การแพทย์ฉุกเฉินกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ยังยืน  และมีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง สถาบันพระปกเกล้า (โดย รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) ,สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (โดย ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในโครงการ Smart City จำนวน 17 แห่ง  ซึ่งประกอบไปด้วย เทศบาลนครขอนแก่น ,เทศบาลนครพิษณุโลก,เทศบาลนครเชียงราย,เทศบาลนครภูเก็ต,เทศบาลนครยะลา,เทศบาลนครอุดรธานี,เทศบาลนครนนทบุรี,เทศบาลเมืองลำพูน,เทศบาลเมืองแสนสุข,เทศบาลเมืองเขาสามยอด,เทศบาลเมืองมหาสารคาม,เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด,เทศบาลตำบลเขาพระงาม,เทศบาลตำบลวังดิน,อบจ.สุพรรณบุรี,อบจ.พิษณุโลก,อบจ.สุราษฏร์ธานี     ซึ่ง นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวถึงการร่วมเป็นหน่วยงานภาคีเครือข่ายในครั้งนี้
สำหรับเทศบาลนครขอนแก่นนั้น ได้รับคัดเลือกจากสถาบันพระปกเกล้า ให้เป็น “เมืองวิจัยต้นแบบของ Smart Mobility” ผ่านโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา LRT   โดยโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา LRT เป็นความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจราจรของจังหวัดขอนแก่นว่า จากในอดีตเทศบาลนครขอนแก่นได้ศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองเป็นระบบ BRT เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรของเมือง แต่ติดขัดด้านงบประมาณในการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง คือ เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลตำบลเมืองเก่า และ เทศบาลตำบลสำราญ โดยมีการร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขอนแก่นทรานซิทซิสเท็มส์ ขึ้น ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท (มีเทศบาลนครขอนแก่นถือหุ้นใหญ่ 80% และที่เหลือถือหุ้นเทศบาลละ 5%) มีข้อสรุปว่าระบบขนส่งที่มีความเหมาะสม คือ ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา LRT โดยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเป็นแบบรางเบา LRT ซึ่งเกิดความคุ้มค่ามากที่สุดในรูปแบบการวางผังเมืองขอนแก่น เพื่อเป็นการลดภาระให้ภาครัฐ โดยภาคสังคมและภาคเอกชน (บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ KKTT) เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนซึ่งเป็นต้นแบบของการจัดการเมืองต่อไป พร้อมกับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงทุน

ข่าว ภาพ จากเพจ เทศบาลนครขอนแก่น



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น