“จ.ขอนแก่น” งานวันรัฐพิธี “วันยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และพิธีรับปฏิทินหลวง

“จ.ขอนแก่น” งานวันรัฐพิธี “วันยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และพิธีรับปฏิทินหลวง

จ.ขอนแก่น วางพานพุ่มดอกไม้สดงานวันรัฐพิธี “วันยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และพิธีรับปฏิทินหลวง วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคมของทุกปี
เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 18 มกราคม 2567 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่นนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานวางพานพุ่มดอกไม้สดงานวันรัฐพิธี “วันยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และพิธีรับปฏิทินหลวง ในการนี้ดร.พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ นายก อบจ.ขอนแก่น มอบหมายให้ นายสิทธิกุล ภูคำวงศ์ รองนายก อบจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นางสุภาพร ภูเงิน ผอ.กองกิจการขนส่ง, นายสมถวิล น้อยวัน ผอ.ส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักช่าง หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ อบจ.ขอนแก่น ทั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมพิธี
18 มกราคม ของทุกปี วันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า นับเป็นยุทธหัตถีทางบกครั้งยิ่งใหญ่ ชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำมาซึ่งเอกราชของประเทศอย่างสมบูรณ์ และได้รับการยกย่องสรรเสริญทั่วไปทั้งทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป เป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย เป็นวันที่คนไทยพึงตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งยังเกิดความรักและหวงแหนที่ต้องปกป้องบ้านเมือง และร่วมกันสืบทอดเจตนารมณ์ของพระองค์ท่าน เพื่อรักษาแผ่นดินนี้ให้เป็นมรดกของลูกหลานไทยสืบไป
เกร็ดความรู้สงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2135 ในครั้งนั้นพระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าวจึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งระหว่างที่การรบกำลังดำเนินอยู่นั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถ ก็ได้ไล่ล่าศัตรูไปจนออกนอกเขตแดน จนทำให้ทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูโดยไม่รู้ตัว แต่ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ พระองค์ก็มีพระสติ ไม่หวั่นไหว และทรงแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ว่าทางที่จะรอดได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้น คือเชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี ในท้ายที่สุดพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย ทำให้ในสมัยนั้นไทยได้ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางกว่าสมัยใดๆ
ซึ่งการทำยุทธหัตถีในครั้งนั้นถือว่าเป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และยังเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย เมื่อเสร็จสงครามยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้สร้างสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ทุ่งหนองสาหร่าย ตำบลตระพังตรุ ตรงกับที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เรียกกันว่า “เจดีย์ยุทธหัตถี”


ในการนี้กองทัพไทยจึงถือเอาวันที่พระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เป็น “วันกองทัพไทย” เรียกกันอีกอย่างว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หรือ “วันยุทธหัตถี” เป็นวันรัฐพิธี แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ แต่เดิมมีการระบุว่า วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชานั้น ตรงกับวันที่ 25 มกราคม ต่อมามีการคำนวณวันใหม่ จึงกำหนดให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็น “วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคม โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน
การที่มีการเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองนั้น เนื่องจากเป็นการนับวันทางสุริยคติ ซึ่งคนปัจจุบันจะสามารถจำได้ง่ายมากกว่า และมีความเหมาะสมกว่า อีกทั้ง นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้ว พบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ที่กำหนดเป็นวันที่ 25 มกราคม นั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง คือ เป็นวันที่ 18 มกราคม ดังกล่าว ดังนั้น วันที่ 18 มกราคม จึงถือเป็น “วันยุทธหัตถี” หรือ “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”
รัฐบาลได้ตระหนักถึงพระวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีต่อประเทศชาติ เพื่อเทิดทูนพระเกียรติยศให้ปรากฎ จึงได้ประกาศให้ถือวันที่ 25 มกราคมของทุกปีเป็นวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวันกองทัพไทย ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโดยครอบองค์สถูปมูลดินนั้นไว้ ที่สุพรรณบุรี เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้ว คณะรัฐมนตรีโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเป็นงานรัฐพิธี ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502


ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้วันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็น “วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และเป็นวันรัฐพิธี แทนวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 อันเป็นการนับทางจันทรคติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และได้กำหนดใหม่ ให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคมของทุกปี
พร้อมกันนี้ ในวันเดียวกันจังหวัดขอนแก่น จัดพิธีมอบปฏิทินหลวง พุทธศักราช 2567 พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่ ที่ บริเวณโถงชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น (หลังใหม่) นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีมอบปฏิทินหลวงพุทธศักราช ๒๕๖๗ พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่
สืบเนื่องจากวันที่ 4 มกราคม 2567 สำนักพระราชวังได้จัดพิธีมอบปฏิทินหลวง พุทธศักราช 2567 โดยมี พลอากาศตรี สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นประธานในพิธี และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย มอบปฏิทินหลวงพุทธศักราช 2567 พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่ ให้แก่
ผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 1 เล่ม และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มอบให้แก่ข้าราชการในจังหวัดที่เห็นสมควร จำนวน 2 เล่ม โดยให้จัดพิธีมอบปฏิทินหลวงฯ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในพิธี
จังหวัดขอนแก่น จึงได้จัดพิธีมอบปฏิทินหลวง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ทำพิธีเปิดกรวยกระทงดอกไม้ ธูปเทียนแพถวายราชสักการะ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมอบปฏิทินหลวง พุทธศักราช 2567 ให้แก่ข้าราชการในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 2 ราย ดังนี้1. นายประจวบ รักแพทย์ ปลัดจังหวัดขอนแก่น และ2. นายชรัญญา หยองเอ่น หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่น.



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น