เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขอนแก่น วอน!รัฐบาลช่วย เพิ่มราคาต้นทุน การผลิตนม ร.ร.
น้ำนมดิบขาดตลาดในรอบสิบปี อดีต ปธ.สหกรณ์โคนมขอนแก่น เผยสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม ทนขาดทุนไม่ไหว เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่หยุด ต้องหาอาชีพอื่นทำแทน วอนคณะรัฐบาล เร่งมาแก้ปัญหาให้เกษตรกร ปรับราคาของผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน ให้สอดคล้องกับราคาน้ำนมดิบ เหมือนกับนมพาณิชย์ที่มีการปรับขึ้นไปแล้ว
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่สหกรณ์โคนมขอนแก่น ถนนมิตรภาพ บ้านซำจาน ตำบลบ้านค้อ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นางบุษกร เถื่อนสมบัติ ผู้จัดการสหกรณ์โคนมขอนแก่น เปิดเผยถึงกรณีที่ทางคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด มีการอนุมัติให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม กิโลกรัมละ 2.25 บาท ว่า ปรับจากเดิม กิโลกรัมละ 20.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 22.75 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม ดังกล่าว
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นางบุษกร กล่าวว่าปัญหาของเกษตรกร ที่เป็นสมาชิก สหกรณ์ปัจจุบันจะประสบปัญหา ต้นทุนในการเลี้ยงวัว ที่ค่อนข้างจะสูง และปัญหาการขาดแคลนอาหาร สำหรับโคในฟาร์มของสมาชิก ถึงแม้ว่าราคานมจะปรับขึ้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาให้ได้แบบเบ็ดเสร็จเลยทีเดียวเพราะเรายังประสบปัญหากับต้นทุนอยู่ ต้นทุนการเลี้ยงของสมาชิก อยากจะให้ผู้ใหญ่ลงมาดูในเรื่องของการจัดการเรื่องอาหาร การจัดการฟาร์มหรือให้คำแนะนำ ที่เป็นความรู้และแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ในการเลี้ยงโคนม เพื่อมาช่วยเกษตรกรแบบเจาะลึกของแต่ละฟาร์มเลย เพราะปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกที่ลดลง ค่อนข้างเกือบ 50 ถึง 60% เลิกเลี้ยงซึ่งส่งผลกระทบให้ 1. ปัญหาหนี้ค้าง เลิกเลี้ยงเสร็จชำระหนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีรายได้ ก็จะทำให้เกิดหนี้ค้างชำระ ซึ่งเป็นภาระของสหกรณ์แบกรับภาระต่อไป และปริมาณน้ำนมดิบก็ยังค่อนข้างขาดแคลน โดยภาพรวมของทั้งประเทศ อยากจะฝากให้ ผู้หลักผู้ใหญ่ลงมาดูแลอาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทาน
“ถ้าหากสหกรณ์ดำเนินกิจการไปต่อไม่ได้ หนี้สินที่สมาชิกมีอยู่กับสหกรณ์ ซึ่งปกติแล้วจะชำระให้กับสหกรณ์ด้วยการหักจากค่าน้ำนมดิบในแต่ละเดือน ดังนั้นจึงอยากจะฝากในเรื่องการปรับราคาของผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน ให้สอดคล้องกับราคาน้ำนมดิบ เหมือนกับนมพาณิชย์ที่มีการปรับขึ้นไปแล้ว”นางบุษกร กล่าว
ด้าน นายสุทน พรายพู อดีตประธานกรรมการสหกรณ์โคนมขอนแก่น และเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมขอนแก่น อายุ62 อาชีพเลี้ยงโคนม เจ้าของคำไหม่ฟาร์ม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 257 ม.20 บ้านซำจาน ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า อยากจะให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือ ในเรื่องราคาน้ำนม คือหน่วยงานภาครัฐตอนนี้ได้เพิ่มราคาน้ำนมดิบของเกษตรกร ทำให้สหกรณ์ต้องเพิ่มราคาต้นทุน ในการผลิตน้ำนมดิบ ภาระต้นทุนในการรับซื้อน้ำนมดิบ จากสมาชิกเกษตรกรเพิ่มขึ้น ในขณะที่สหกรณ์ฯก็ได้รับการจัดสรรเรื่องนมในโรงเรียน แต่ยังขายนมโรงเรียนในราคาเดิมอยู่ ก็จะทำให้สหกรณ์แบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ก็อยากจะวิงวอน เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ช่วยเพิ่มราคานมโรงเรียนให้ด้วย
นายสุทน กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟาร์มโคนมของตัวเองชื่อฟาร์มว่า คำใหม่ฟาร์ม มีเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ เป็นที่ดินของ สปก. ซึ่งมีวัวพันธุ์ จำนวน 160 ตัว และมีแม่วัวที่สามารถรีดนมได้อยู่จำนวน 60 ตัว ปัจจุบันสามารถรีดนมวัวได้วันละ 930 ก.ก. เพื่อเอาไปส่งที่สหกรณ์โคนมขอนแก่น ตอนนี้มีนักศึกษา ฝึกงานช่วยรีดนมวัวอยู่จำนวน 2 คน มีภรรยาและตนเองรวมแล้วเป็น 4 คน ซึ่งวันหนึ่งจะรีดนมวัว จำนวน 2 ครั้งครั้งแรกจะรีดตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง และรอบที่ 2 คือตอนเย็นประมาณ 3 โมงเย็น
ส่วนวงเงินในการทำฟาร์ม ตอนนั้นได้โครงการช่วยเหลือ จากกรมปศุสัตว์ เรื่องช่วยเหลือพันธุ์แม่โคนม และกู้ธกส. ซึ่งกู้มาครั้งแรก ธกส.ให้ทุนกู้มาจำนวน 80,000 บาท เพื่อมาทำฟาร์ม เริ่มต้นเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2532 ส่วนแม่นมที่จะสามารถรีดนมได้ต้องมีอายุได้ 24 เดือนหรือ 2 ปี อุ้มท้องคลอดลูกมาถึงจะได้รีดนม ในช่วงรีดนมก็จะได้ประมาณ 10 เดือน และก็จะอุ้มท้องใหม่ และหยุดรีดนม 2 เดือน คลอดใหม่แล้วเราก็รีบนมอีกครั้ง ในช่วงแม่วัวตัวนึงจะสามารถคลอดลูกได้ 6-7 ตัว เราถึงหยุดในการรีดนม เริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน งบในการทำฟาร์โคนม มาประมาณ 10 กว่าล้าน 10-15 ล้านบาท คร่าวๆ เพราะต้องสร้างโรงเรือนและสร้างระบบให้อาหาร ระบบดูแลสุขภาพและอีกหลายๆอย่าง ถ้าเกิดว่าเราไม่ลงทุนในการใช้แรงงานค่อนข้างมาก ลำบากต่อการเลี้ยง
นายสุทน กล่าวท้ายสุดว่า เดิมทีเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี เพราะตอนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ของกรมส่งเสริม เพราะในช่วงนั้นรู้สึกว่าสหกรณ์โคนมขอนแก่น จะก่อตั้งใหม่ๆ เพิ่งเริ่มก่อตั้งและก็ได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยส่งเสริม ดูแลระบบบัญชีและดูแลเกษตรกร เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมด้วย ต่อจากนั้นก็ได้มาเจอภรรยา ซึ่งเป็นคนชาวจังหวัดขอนแก่น ก็เลยลาออกจากข้าราชการ ก็เลยมาทำฟาร์มโคนมของตัวเอง เพราะ ตัวเองเรียนจบด้านเกษตรมา ด้านโคนม ก็มีใจรักอยู่แล้ว เลยลาออกจากงานราชการเพื่อผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงโคนม ประสบปัญหาการขาดทุนในช่วงที่โควิดระบาด และเริ่มฟื้นตัวในช่วง 2-3 ปีหลังจากที่คงหาย มีอะไร ได้เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง.