กล้วยไม้ช้างกระ บานสะพรั่ง รับนักท่องเที่ยว ที่ อุทยานวัดป่ามัญจาคีรี ขอนแก่น
กล้วยไม้ช้างกระ สัญลักษณ์แห่งเมืองมัญจาศีรี ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กำลังออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมยั่วๆรับนักท่องเที่ยว ถือเป็นอันซีนอีสาน ที่ ททท.กำหนดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีที่นี่เพียงแห่งเดียวของประเทศ ขณะที่อำเภอมัญจาคีรี เตรียมจัดงานประจำปีโปรโมทการท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า ที่ อุทยานวัดป่ามัญจาคีรี อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น นายวิศิษฎ์ นรสิงห์ นายอำเภอมัญจาคีรี พร้อมด้วยส่วนราชการ ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน ร่วมกันแถลงข่าวจัดงานเทศกาลกล้วยไม้บานและของดีเมืองมัญจาคีรี ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 30 มกราคม- 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอมัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นการส่งเสริม และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของอำเภอมัญจาคีรี ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งสืบสานวัฒนธรรมขนบธรมเนียมประเพณีอันดีงาม กระตุ้นให้ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์ “กล้วยไม้ป่าช้างกระ” ไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองมัญจาศีรี ซึ่งงานนี้ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำผลิตผล ผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นของดีในทุกพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน ออกมาจัดแสดง และจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนชุมชนในพื้นที่
นายวิศิษฎ์ นรสิงห์ นายอำเภอมัญจาคีรี กล่าวว่า ภายในบริเวณอุทยานวัดป่ามัญจาคีรี แห่งนี้เต็มไปด้วยกล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระที่เกาะอยู่บนต้นมะขามกำลังออกดอกชูช่อสวยงามบานสะพรั่งไปทั่วบริเวณวัด ส่งกลิ่นหอมฟุ้งแต่ไกล และจะออกดอกเพียงในช่วงฤดูหนาวของทุกปีเท่านั้น ที่นี่ถือเป็นสถานที่แห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีกล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระที่เกิดขึ้นเอง และเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติกว่า 4000 ช่อ เกาะอยู่ตามลำต้นและกิ่งต้นมะขามที่มีอายุกว่าร้อยปี ถือเป็น “อันซีนอีสาน” ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีที่นี่เพียงแห่งเดียวของประเทศ เป็นเขตสงวนรักษาพันธุ์กล้วยไม้ป่า พร้อมติดตั้งป้ายไว้ห้ามมิให้นักท่องเที่ยวเก็บ จับดอกหรือลำต้นเด็ดขาด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น
ด้วยความร่มรื่นของอาณาบริเวณวัดป่ามัญจาคีรี ที่สำคัญได้รับความชื้นจากบึงกุดเค้า ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ของอำเภอที่อยู่ใกล้กัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตของกล้วยไม้ ส่งผลให้วัดป่าแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับหมู่มวลช้างกระหลายพันต้นที่มาชุมนุมเติบโตภายใต้ร่มพุทธศาสนา และเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติ จะออกช่อในช่วงเดือนธันวาคม และจะบานช่วงเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่เป็นช่วงฤดูหนาว.