ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ชี้แจงสถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบัน
ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ ผ่านรายการ “สี่แยกข่าวกรมประชาสัมพันธ์” วันนี้ (9 ก.ค.60) ว่าสถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น-ลง ตามวงจรเศรษฐกิจโลก และผันผวนไปตามอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อการปรับตัวขึ้นลงในแต่ละปี และมีผลกระทบต่อประเทศไทยเพราะเป็นผู้ส่งออกยางพาราในรูปวัตถุดิบเป็นรายใหญ่ของโลก
รัฐบาลเสนอแนวทางให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น แทนการพึ่งพิงการส่งออกซึ่งเป็นการแก้ไขในระยะยาว ราคายางในช่วงที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์มีการปรับตัวลงเล็กน้อยเท่านั้น แต่คาดการณ์ว่าจะมีการขยับตัวดีขึ้นในอนาคต ซึ่งในการประชุมสภาไตรภาคี ระหว่าง ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่ประชุมเห็นชอบนำมาตรการจำกัดการส่งออกมาใช้อีกครั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา และจะมีการเลื่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีทั้งสามประเทศให้เร็วขึ้น จากเดือนธันวาคมเป็นเดือนกันยายนในปีนี้ เพื่อหาแนวทางและประกาศใช้แนวทางการแก้ไขราคายางพารา ซึ่งจะทำให้ราคายางมีทิศทางที่ดีขึ้น
ด้าน คณะรัฐมนตรีได้ อนุมัติโครงการช่วยเหลือในเบื้องต้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และสถาบันการเกษตร ผู้ประกอบกิจการยาง ด้วยการขยายเวลาการสนับสนุนเงินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราออกไปอีก 3 ปี ภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อ 10,000.- ล้านบาท, การขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ของโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคายาง และโครงการมูลภัณฑ์กันชน ก็มีการขยายเวลาออกไป, การดำเนินโครงการสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000.- ล้านบาท เพื่อใช้รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำยางสดปรับตัวลง รวมทั้งให้การช่วยเหลือเกษตรตามโครงการสร้างความเข็มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกร จำนวน 11,000 ครัวเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการช่วยเหลือไปแล้ว 80,000 ครัวเรือน
ขณะนี้เดียวกัน การยางแห่งประเทศไทยมีกองทุนพัฒนายางพารา เป็นเงินที่ช่วยหลือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด ด้วยการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพารากว่า 2.5 พันล้านบาท ให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ในด้านการพัฒนา แปรรูป และการตลาดของตัวเอง นอกจากนี้ยังผลักดันหลักเกณฑ์ในด้านอื่นๆ เช่น ด้านสวัสดิการ โดยใช้สิทธิขอรับการช่วยเหลือกรณีประสบภัยธรรมชาติ ครัวเรือนละ 3,000.- บาท หรือกรณีเกษตรกรเสียชีวิตทายาทจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ส่วนการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการแปรรูป มีเงินกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรอีก 300 ล้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพใหกับทกสถานบันเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการขับเคลื่อนสร้างเสถียรภาพราคายาง โดยมอบหมายให้การยางแห่งปรเทศไทยจัดตั้งกองทุนรักาเสถียรภาพราคายาง โดยมีผูประกอบการรายใหญ่ 5 ราย มามีส่วนร่วมในการลงทุนเปิดเป็นกองทุนในการติดตามราคายางตลอดเวลา เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความผันผวนของราคายางพารา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป พร้อมขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อสามารถรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้กลับมาอีกครั้ง โดยสามารถแสดงความความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ มาที่การยางแห่งประเทศไทยทั้ง 125 แห่งทั่วประเทศใกล้บ้านท่าน
ข่าว สวท.หนองบัวลำภู