รมว ยุติธรรม ยกขอนแก่นโมเดล เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ขอนแก่น มอบนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมยกขอนแก่นโมเดล เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน เบ็ดเสร็จโดยมีสามเสาหลักสำคัญ ผู้ว่าราชการจังหวัด ,ผู้บังคับการตำรวจภูธร สาธารณสุขจังหวัด,ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ,กำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่ประสานการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง
วันนี้ (10 ก.พ. 67) ที่ หอประชุมอเนกประสงค์ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่มอบนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล พร้อมยกขอนแก่นโมเดล เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนโดยมี นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น, พลตำรวจตรี อนุวัฒน์ สุวรรณภูมิ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น , นายสิงหภณ ดีนาง ขอนแก่น ส.ส.เขต 6 พรรคเพื่อไทย,นายทวิช พิมพะ นายอำเภอหนองเรือ,คุณนาวิน คำเวียง ที่ปรึกษาประจำตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของท่าน ดร.สุทิน คลังแสง ,หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมประชุมรับมอบนโยบาย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การดำเนินการแก้ปัญหายาเสพติด หากดูสถิติการจับกุมหรือสถิติการป้องกันปราบปรามการบำบัด จะพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นแสดงว่าการจับกุมมาก แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ตัวชี้วัด โดยเป้าหมายตัวชี้วัด คือ การมีหมู่บ้าน/ชุมชน ปลอดภัยจากยาเสพติด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังได้กล่าวชื่นชมการทำงานของจังหวัดขอนแก่น โดยมีสามเสาหลักสำคัญ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธร สาธารณสุขจังหวัด ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่ประสานการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จนเกิดเป็นขอนแก่นโมเดล เป็นจังหวัดต้นแบบการแก้ปัญหายาเสพติดแบบเบ็ดเสร็จ
การแก้ปัญหายาเสพติดเชิงรุก ถือเป็นกลไกสำคัญ เนื่องจาก ยาเสพติดไม่ได้ผลิตในประเทศไทย โดยแหล่งผลิต สำคัญอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ การสกัดกั้นปราบปรามต้นตอในประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่ทางการทำ คือไปร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ผลิตและสกัดดั้นเส้นทางการลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในประเทศทั้งทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งหากชุมชนมีความตื่นตัว ช่วยกันแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกของชุมชน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่จะรู้ถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ เป็นอย่างดี และจะต้องหางบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงาน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นเสาหลักในการแก้ปัญหายาเสพติดต่อไป.