อปสข. เขต 7 ขอนแก่น เห็นชอบให้ผู้ป่วยโรคตาต้อกระจกสามารถไปรับบริการผ่าตัดได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และ ร้อยเอ็ด โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และเห็นชอบคืนโควตาผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม 239 ข้าง ให้ส่วนกลาง
วันที่ 18 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมอวานี จ.ขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น จัดการประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 7 ขอนแก่น ครั้งที่ 6/2560 โดยมี ศ. (พิเศษ) นพ.สมพร โพธินาม ประธาน อปสข. เป็นประธานในการประชุม มี นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และ นางสาววนิดา วิระกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ร่วมประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีการหารือในวาระสำคัญหลายรายการ โดยเฉพาะ การบริหารจัดการการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งในแต่ละปีมีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคตาต้อกระจกรายใหม่ทั่วประเทศจำนวนมาก สปสช.ได้สนับสนุนการผ่าตัดแก่ผู้ป่วยต้อกระจกในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ป่วยโรคตาต้อกระจกเข้าถึงบริการมากขึ้น
ในปีงบประมาณ 2560 ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ในความรับผิดชอบของ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ได้กำหนดเป้าหมายการผ่าตัดต้อกระจกในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาจำเป็นต้องผ่าตัดเร่งด่วน เพื่อป้องกันการตาบอด จำนวน 9,200 ราย โดยมีกลไกการทำงานร่วมกันระหว่าง สปสช. กระทรวงสาธาณณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับเขตทำหน้าที่ร่วมกันกำหนดและจัดสรรเป้าหมายให้กับโรงพยาบาล และส่งเสริมการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดเร่งด่วน
“เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดตาต้อกระจกอย่างรวดเร็ว อปสข. ได้มีมติเห็นชอบให้โรงพยาบาลสามารถส่งต่อผู้ป่วยโรคตาต้อกระจกไปรับการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่รับส่งต่อในพื้นที่ 4 จังหวัด โดยไม่ต้องขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัดสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ของผู้ป่วย” ศ. (พิเศษ) นพ.สมพร กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อเสนอจากคณะทำงานพิจารณาข้อเข่าเสื่อม สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ที่ให้คืนโควตาการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม จำนวน 239 ข้าง ไปยัง สปสช. ส่วนกลาง เนื่องจากในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – มิถุนายน 2560 โรงพยาบาล 7 แห่ง ในพื้นที่ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น คือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลชุมแพ โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ และ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ มีการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมเพียง 91 ครั้ง ในผู้ป่วย 87 คน เท่านั้น จากเป้าหมายในปีงบประมาณ 2560 ที่จะผ่าตัดทั้งหมด 312 ครั้ง ทั้งนี้สาเหตุหลักที่มีผู้เข้ารับการผ่าตัดในพื้นที่ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น น้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั้น เนื่องจากความเชื่อของคนอีสานที่กลัวว่าเมื่อผ่าตัดไปแล้วจะไม่สามารถเดินได้เหมือนเดิม.