จ.ขอนแก่น ผลงานอันดับ 1 ภาคอีสาน อันดับ 4 ของประเทศ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน
จังหวัดขอนแก่น ร่วมสรุปผลปฏิบัติการเร่งรัดการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ตามตัวชี้วัด มีผลลงานเป็นอันดับ 1 ภาคอีสาน อันดับ 4 ของประเทศ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 กันยายน 2568 ที่ ห้องแก่นเมือง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น,ผอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายยุทธพร พิรุณสาร รอง ผวจ.ขอนแก่น,พ.อ. สุรพงษ์ ยอดอินทร์ รองผอ. รมน. จังหวัดขอนแก่น , พ.ต.อ.ถนอมสิทธิ์ วงษ์วิจารณ์ รอง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น, ตัวแทนสสจ.ขอนแก่นและ ป.ป.ส.ภาค 4 ร่วมแถลงผลการดำเนินงานผลการปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน จ.ขอนแก่น(เดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2567) โดยมีนายอำเภอ 26 อำเภอพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงานแถลงข่าว
การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ตามนโยบายของรัฐบาล จังหวัดขอนแก่น ได้ผนึกกำลังบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิบัติการฯ กันอย่างเต็มกำลังทุกมิติ ทั้งด้านป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด มีการติดตามผลการดำเนินงานทุกสัปดาห์ ในภาพรวมการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ แนวทางปฏิบัติและ 4 ตัวชี้วัด ภาพรวม (34 ตัวชี้วัดย่อย) มีผลการดำเนินงานรวมตัวชี้วัด 93.6 คะแนน จาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 1 ของภาคอีสาน และอันดับ 4 ของประเทศ รองจากจังหวัดชลบุรี จังหวัดปัตตานีและจังหวัดสมุทรปราการ
ในระยะเวลา 90 วันในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วนนั่น สามารถทำการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายรวบผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้ค้า 1,792 คน ผู้เสพ 9,922 คน ขณะที่การตรวจหาสารเสพติดเจ้าหน้าที่และบุคลากรภาครัฐ 10,910 ราย พบสารเสพติด 14 ราย โดยให้ออกจากราชการ ดำเนินการทางวินัยและนำเข้ารับการบำบัดรักษา ขณะที่การตรวจสารเสพติดในพระภิกษุสงฆ์ 1,699 รูป พบสารเสพติด 58 รูป ให้ลาสิกขาและนำเข้ารับการบำบัดรักษา
ในการจัดตั้งศูนย์วอร์รูม ได้รับความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสผู้ค้าและผู้เสพ รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสายด่วนซอมบี้ขยี้ยาเสพติด ซึ่งรับแจ้งเบาะแสแล้ว 344 เรื่อง ดำเนินการแล้ว 328 เรื่อง อยู่ระหว่างการตรวจสอบและดำเนินการ 16 เรื่อง ขณะที่การฟื้นฟูสังคมมีการนำผู้เสพที่อยู่ในขั้นตอนของการช่วยเหลือที่ยังไม่พร้อมกลับสู่ชุมชนในรูปแบบของศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดหรือ CI จำนวน 1,748 คน โดยแต่ละอำเภอมีการประเมินผู้ที่เข้ารับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ได้มีการบูรณาการร่วมกับชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมตามโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืน ซึ่งผลการดำเนินการปราบปรามยาเสพติด สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดขอนแก่น ยังคงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุกอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อขจัดภัยยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย พร้อมขอให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันเป็นหูเป็นตา ร่วมกันสอดส่อง ให้ตระหนักว่า ผู้เสพคือเหยื่อ ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ บำบัด รักษา ให้คืนสู่สังคมและใช้ชีวิตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไปได้อย่างปกติสุข