“มข.”ชูหอภาพยนตร์ ขับเคลื่อน New I-san สู่สากล ดันรากวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ
“ภาพจำเก่าของอีสานที่คุ้นเคย คือดินแยกแตกระแหง ผู้คนทุกข์ยาก ปากหมอง แต่ในปัจจุบัน อีสานคือพื้นที่เปิดใหม่ ที่ทรงพลังมากพอที่จะขับเคลื่อนคนและเศรษฐกิจทั้งประเทศ ด้วยภูมิปัญญารากฐานแห่งวัฒนธรรมท้องถิ่น”
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยประสงค์ของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนโยบายชัดเจนว่า จากนี้อีสานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยอนุมัติงบประมาณเพื่อปรับปรุงหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้น 2 เป็น หอภาพยนตร์อีสาน โดยฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมที่กินได้อยู่รอด นั่นคือ New I–san หรือ อีสานใหม่จะต้องเป็น ครีเอทีฟ อีโคโนมี (Creative Economy) รากวัฒนธรรมที่มีคุณค่าแล้วต่อยอดให้กินได้ ทุกอย่างที่เป็นศิลปะต้องถูกนำมารับใช้ปัจจุบันและอนาคต ตามนโยบายท่านนายกสภาที่ว่า Pass Legend, Future Tense สู่อนาคตแห่งอดีตกาล หรือ การเลือกเฟ้นค้นหาภูมิปัญญาฮีตคอง ประเพณีต่อยอด รับใช้คนปัจจุบันและยั่งยืนสู่อนาคต หอภาพยนตร์อีสาน ศูนย์กลางงานศิลปะกินได้ ขายได้
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ เครือข่าย สมาคมผู้กำกับ สมาพันธ์ภาพยนตร์ สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์มายาวนานต่อเนื่องกว่า 20 ปี บ่มเพาะคนรักหนังระดับมัธยมและอุดมศึกษาโดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง มีพล็อตหนัง ทั้งสั้นและยาวให้ชอปปิ้ง กว่า 500 เรื่อง ในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า หอภาพยนตร์ชั้น 2 อาคารหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งนี้ จะมีการ พิทชิง(Pitching) ระหว่างเจ้าของบทหนัง และ Loglineหนัง กับนายทุน นำเอาบทภาพยนตร์ไอเดียดีๆ จากนักศึกษา จากมืออาชีพขยายสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีหอภาพยนตร์อีสานเป็นตัวเชื่อม
“พิพิธภัณฑ์ หอภาพยนตร์ เป็นพื้นที่จัดแสดงความเป็นมาของภาพยนตร์อีสาน นักแสดงภาพยนตร์ “สมบัติ เมทะนี” พระเอกตลอดกาลเป็นเพียงชาวอีสานคนเดียวที่มีชื่อ จารึกไว้ลงกินเนสส์บุ๊ค แสดงภาพยนตร์มากที่สุดในโลกสถิติแสดง 617 เรื่อง เป็นต้น เหล่านี้เป็นข้อมูลที่หลายคนยังไม่ทราบ เราจะสร้างอคาเดมี่ (Academy) สถาบันสอนการทำหนัง ตั้งแต่ Pre – production , Production ,Post – production เราจะมีพื้นที่ชมภาพยนตร์ 24 ชม. เมื่อสำเร็จ พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทย ที่เปิดแลกเปลี่ยน ให้เมืองขอนแก่นเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์ไทย ผลักดันขอนแก่นให้เป็นเมืองหนังอีสาน สู่เมืองหนังโลก” ดันฐานรากวัฒนธรรม นำเศรษฐกิจ
รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวต่ออีกว่า ครีเอทีฟ (Creative) ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีมากเพียงพอแล้ว แต่ยังขาดอีคอนโนมี (economy) มันจะเกิดไม่ได้ ถ้าผู้ซื้อผู้ขายไม่มาเจอกัน มหาวิทยาลัยจึงสร้างพื้นที่หอภาพยนตร์อีสาน และหอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นพื้นที่ขายทุกอย่างเกี่ยวกับศิลปะ เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้เชื่อมั่นกันและกันเกิดการต่อยอดเชิงพาณิชย์
“มหาวิทยาลัยขอนแก่นคือพ่อค้าคนกลาง คือสถาบันที่น่าเชื่อถือ ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อและผู้ขาย มี license รับประกันทุกอย่างถูกต้อง ศิลปินมาฝากขาย เชื่อมั่น และมั่นใจ ผู้ซื้อก็มั่นใจว่าคัดสรรแล้ว เราเป็นตัวกลางเชื่อมได้ โดยจะเริ่มแสดงอย่างเป็นทางการ ผลงานของศิลปินอีสาน 40 คน ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ และที่สำคัญ เรามีกระบวนการคัดเลือกโดยกรรมการกลั่นกรอง ตามมาตรฐาน ตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นหอศิลป์ที่มี มาตรฐานสำหรับการขอผลงานวิชาการระดับชาติทางศิลปะ”รักษา หรือ สูญสลายอยู่ที่เราร่วมกัน
“เรามีรากอยู่แล้ว ถ้าอนุรักษ์อย่างเดียวมันก็แค่ทรงวันหนึ่งอาจจะทรุดและตายไปในที่สุดมัน แต่เราต้องมองว่าปัจจุบันเขาเสพอะไร เราต้องปรุงแต่งให้ถูกลิ้นผู้เสพไหม ตำนานนิทานที่มีคุณค่า จะนำมารับใช้คนในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร หน้าที่ของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้การศึกษาและวิจัย เพื่อช่วยเฟ้นหาคุณค่า อย่างมีระบบน่าเชื่อถือ นำมาประยุกต์ สร้างสรรค์ใหม่ นั้นคือการต่อยอด ต่อลมหายใจ ให้กับรากวัฒนธรรม ให้มีชีวิตอยู่อย่างสง่างาม ยั่งยืน…จากนี้ไปอีสานไม่มีวันตาย…แน่นอน” รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวทิ้งท้าย.