“หมอปิยะสกล” ชี้ “หลักเกณฑ์บริหารงบบัตรทอง ปี 61” ความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน ส่งผลเข้าใจกันมากขึ้น
“หมอปิยะสกล” ชี้ “หลักเกณฑ์บริหารงบบัตรทอง ปี 61” เกิดจากความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน ส่งผลเกิดความเข้าใจมากขึ้น มุ่งดำเนินงานสู่เป้าหมายเดียวกัน “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” พร้อมย้ำหากมีเสียงกระซิบปัญหาต้องเร่งพูดคุย
โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ – ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 พร้อมปาฎกถาพิเศษ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีผู้แทนจากหน่วยบริการที่ร่วมบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากสังกัดต่างๆ เข้าร่วม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยบริการเอกชนเข้าร่วม เพื่อทำความเข้าใจการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินับเป็นนโยบายสำคัญที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีกระแสอย่างไร รัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน โดยกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และทุกภาคส่วนประชารัฐต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” เห็นได้ว่าเป็นประโยคที่พูดได้ไม่ยากแต่เข้าใจยาก ทำอย่างไรทำให้ผู้ให้งบประมาณเข้าใจและเห็นความสำคัญ ไม่ว่าอย่างไรเราคงไม่หยุดดำเนินการ เมื่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินมาถึงจุดนี้ นอกจากความสำเร็จแล้ว ยังมองเห็นอุปสรรคและความร่วมมือที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหาติดขัด โดยไม่แบ่งฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้จ่ายเงิน ผู้ให้บริการและที่สำคัญคือภาคประชาชน ภาคประชาสังคมที่ต้องร่วมกัน เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติล้วนเป็นของประชาชน ซึ่งต้องทำเพื่อประโยชน์ประชาชนโดยแท้
สำหรับในปีงบประมาณ 2561 นี้ ในการบริหารกองทุนและการจัดสรรงบประมาณ ทั้งผู้จ่ายเงินและผู้ให้บริการได้มีการพูดคุยกันมากกว่าที่ผ่านมา ผ่านคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ระดับประเทศ (คกก.7X7) และกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ.ระดับเขต (คกก. 5X5) ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น เอื้ออาทรกันมากขึ้น เป็นการดำเนินระบบจากความร่วมมือร่วมใจที่ได้มีการพูดคุยกันก่อน และเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการ
ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กองทุนการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพึงระยะยาว (LTC) เป็นโครงการที่ทำมาตั้งแต่ในปี 2559 ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 600 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 900 ล้านบาทในปี 2560 และเพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาทในปี 2561 นี้ เพราะมองเห็นประโยชน์เพื่อดูแลผู้สูงอายุในอนาคต แต่ผลประเมินโครงการที่ผ่านมาปรากฎว่างบที่จ่ายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลับติดปัญหาเบิกจ่ายไม่หมด หากปล่อยไว้แบบนี้ปี 2561 ย่อมเกิดปัญหาแน่ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ได้ร่วมกันลงพื้นที่ อปท.เพื่อดูปัญหาติดขัด รวมทั้งดูดำเนินงาน อปท.ที่ประสบผลสำเร็จเพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“อปท.ที่ดำเนินโครงการ LTC สำเร็จ แม้ว่าจะติดขัดระเบียบ อปท.ไม่สามารถโอนเงินไปยังศูนย์การดูแลผู้สูงอายุท้องถิ่นได้จากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วง จึงใช้ช่องทางดำเนินการผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กระทรวงสาธารณสุขแทนในรูปแบบเหมาจ่าย ทำให้ อปท.เดินหน้าโครงการต่อไปได้ นำมาสู่การจัดการระดับประเทศ อาทิ การทำคู่มือดำเนินโครงการ LTC ส่งผลให้การดำเนินโครงการ LTC ปี 2561 นี้มีความราบลื่นได้ เป็นผลจากการลงไปดูปัญหา พูดคุยร่วมกัน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ส่วนการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลักการปีนี้ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ขอย้ำอีกครั้งว่างบประมาณที่เป็นเงินของประชาชนทุกบาททุกสตางค์ที่ให้มาบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีประชาชนสุขภาพดีเป็นเป้าหมาย เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้จ่ายเงิน ผู้ให้บริการต้องมีความสุข มีความเข้าใจ เหล่านี้ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพยั่งยืน ซึ่งต้องฝากความหวังไว้กับพวกเราทุกคน
“การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2561การดำเนินการต่างๆ ได้ผ่านการกลั่นกรองจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ซึ่งต่อจากนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อให้การบริหารกองทุนเกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งใดไม่เข้าใจต้องมาพูดคุยกัน และต้องมีการประเมินผลเป็นระยะ ปรับเปลี่ยนได้ทุกช่วงเวลา ไม่รอให้เกิดปัญหาใหญ่ก่อน เมื่อมีเสียงกระซิบเข้ามาต้องมาพูดคุยกัน ไม่ต้องรอให้กรีดร้องก่อน วันนี้ระบบสุขภาพของประเทศแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่เราจะทำให้ประเทศรายได้มากๆ มาเรียนรู้ระบบสุขภาพจากไทย เหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจทุกภาคส่วน” ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพปรากฎการณ์ในวันนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ระดับบอร์ด สปสช. คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ผู้ให้บริการจากทุกส่วน ผู้รับบริการและภาคประชาชน ส่งเสริมด้วยระบบต่างๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ทั้งจากกลุ่มโรงเรียนแพทย์ การจัดระบบเชื่อมโยงบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินต่อจากนี้ คือ 1.ประชาชนมีสุขภาพดี เป็นเป้าหมายตรงกันของทุกภาคส่วน 2.การบริหารงบประมาณจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3.การจัดการ โดยมีพันธมิตรที่มีจุดยืนร่วมกันเป็นกลไกสำคัญ เพื่อทำให้เกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายและทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายั่งยืน
[contact-form][contact-field label=”ชื่อ” type=”name” required=”true” /][contact-field label=”อีเมล์” type=”email” required=”true” /][contact-field label=”เว็บไซท์” type=”url” /][contact-field label=”ข้อความ” type=”textarea” /][/contact-form]