ไตรมาส 4 ปี 67 เศรษฐกิจอีสานปรับตัวดีขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น

ไตรมาส 4 ปี 67 เศรษฐกิจอีสานปรับตัวดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น

2 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดร.ทรงธรรม ปั่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.,) แถลงข่าวเสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 4 ปี 2567
เศรษฐกิจอีสาน “ขยายตัว” จากไตรมาสก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ทรงตัวเป็นสำคัญ โดยหมวดสินค้าคงทนหดตัวสูงต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าในชีวิตประจำวันขยายตัวจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐช่วงปลายไตรมาส และการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล วันหยุดยาว สอดคล้องกับภาคบริการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และการเร่งเบิกจ่ายงบประชุมสัมมนาของภาครัฐ


ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามราคายางพาราที่ขยายตัว จากผลผลิตที่ลดลงหลังภาคใต้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทำให้กรีดยางได้น้อยลง และราคาข้าวเปลือกที่ขยายตัว จากความต้องการที่ยังมีต่อเนื่อง ทั้งจากต่างประเทศและโรงสีในประเทศที่ทยอยรับซื้อข้าวเพื่อเก็บเป็นข้าวเก่า ด้านผลผลิตขยายตัวจากอ้อยและยางพาราจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
ภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว
ตามการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการผลิตน้ำตาลทรายหดตัว หลังเร่งผลิตตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าในไตรมาสก่อน (แม้ว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค.) ขณะที่การผลิตยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นตามความต้องการของจีนเพื่อผลิตยางล้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง
ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและต่างชาติ ตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวหลายพื้นที่ ซึ่งมีขนาดงานใหญ่และผู้ร่วมงานมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว กอปรกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารขาเข้าผ่านท่าอากาศยานและอัตราการเข้าพักแรมเพิ่มขึ้น
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่อง


จากผลของมาตรการเงินโอนภาครัฐ กิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่เพิ่มขึ้น และรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าบริการ และหมวดรถจักรยานยนต์ ขณะที่สินค้าคงทนหมวดรถยนต์นั่งและรถกระบะหดตัวต่อเนื่อง จากคุณสมบัติผู้กู้ที่ด้อยลงและสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ
การลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัว
ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาขยายตัวจากยอดจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ เช่นเดียวกับการลงทุนด้านก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่องจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ตามอานิสงส์ของการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ขณะที่พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยหดตัวต่อเนื่อง
การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวต่อเนื่อง
ตามการนำเข้าที่หดตัว จาก จีน ในหมวดเคมีภัณฑ์ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รวมถึงการนำเข้าจากกัมพูชาที่หดตัว ในหมวดมันสำปะหลัง


อย่างไรก็ตาม การส่งออกทรงตัว จากการส่งออกไปจีนที่หดตัว ในสินค้าทุเรียนที่ผลผลิตทยอยหมดลงขณะที่การส่งออกไป สปป. ลาวขยายตัว ในหมวดปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ และการส่งออกไปเวียดนามขยายตัว ในหมวดอาหารสัตว์
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ
ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามการจ้างงานในภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่การจ้างงานในภาคการค้าและในภาครัฐปรับลดลงหลังเร่งไปช่วงก่อนหน้า
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2568. คาดว่า หดตัว ตามแรงส่งของมาตรการเงินโอนภาครัฐที่ลดลง แม้รายได้เกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ดี จึงช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนได้น้อยลง ประกอบกับกำลังซื้อที่ยังเปราะบางและภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงยังกดดันการบริโภคครัวเรือนฐานราก อย่างไรก็ดี ภาคบริการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น