“รัฐมนตรี วราวุธ .” หนุน ศบปภ. ภาคอีสาน ดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ

“รัฐมนตรี วราวุธ .” หนุน ศบปภ. ภาคอีสาน ดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ

30 มีนาคม 2568 ที่ โรงแรมอวานีขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) เพื่อบูรณาการบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ว่า กระทรวง พม. ประชุมเชิงปฏิบัติการกับทีม พม. 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้รับทราบถึงข้อมูลการรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติและการช่วยเหลือดูแลกลุ่มเปราะบางเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ กระทรวง พม. เรามีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนว่า ในพื้นที่แต่ละจังหวัด มีกลุ่มเปราะบางอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุด เพราะว่าเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นมา ทางกระทรวง พม. สามารถให้ข้อมูลเหล่านี้กับหน่วยกู้ภัยและฝ่ายปกครองได้ว่า กลุ่มเปราะบางที่ไหนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นอันดับแรก รวมไปถึงหลังจากภัยพิบัติผ่านพ้นไปแล้ว จะต้องเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูที่ไหนก่อนเป็นที่แรก และต้องขอบคุณคณะที่ปรึกษาฯ ที่ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลนี้

นายวราวุธ กล่าวว่า นับว่าเป็นก้าวใหม่ของกระทรวง พม. ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการจัดตั้ง ศบปภ. แล้วหวังว่า ศบปภ. จะเป็นคำตอบในการดูแลพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้น ทั้งนี้ กระทรวง พม. จะได้นำข้อมูลในที่ประชุมวันนี้ไปทำให้กระชับและถูกต้องเป็นรูปแบบเดียวกัน เพราะว่าหลายจังหวัดที่นำเสนอข้อมูลมานั้นมีข้อมูลบางประเด็นที่ยังคลาดเคลื่อน เพื่อผู้บริหารกระทรวง พม. จะได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันได้อย่างถูกต้อง และจะได้ส่งรูปแบบหรือแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับพื้นที่ เมื่อเราได้ข้อมูลถูกต้องสมบูรณ์แล้ว จะสามารถนำออกมาทำเป็นแผนปฏิบัติการได้ว่า เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ อาทิ อุทกภัย วาตภัย หรือแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้ เราจะเผชิญเหตุได้อย่างไร ซึ่งแผนเหล่านี้จะยกร่างขึ้นมาภายหลังได้ข้อมูลที่ครบถ้วนจากทั้ง 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อผู้บริหารกระทรวง พม. จะสามารถนำมาเป็นข้อมูลในตัดสินใจในการวางนโยบาย รวมถึงอีกหลายหน่วยงานจะได้วางกรอบนโยบายเพื่อตอบสนองการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่

นายวราวุธ กล่าวว่า กรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว และทำให้ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถล่ม ที่ย่านจตุจักรนั้น ได้รับรายงานล่าสุด (ข้อมูล 30 มี.ค. 68) ว่า กระทรวง พม. ทราบข้อมูลผู้สูญหาย 19 ราย จากภูมิลำเนา 11 จังหวัด มีทั้งกรุงเทพมหานคร ยโสธร หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ และสุพรรณบุรี โดยทีม พม. จังหวัดนั้นๆ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านครอบครัวผู้เสียหายเพื่อประเมินทางสังคม พร้อมทั้งเยียวยาสภาพจิตใจและให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิสวัสดิการสังคมต่างๆ ของกระทรวง พม. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น