กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขยายพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติมในกระบวนการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายจากพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
วันที่ 13 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสภาวะภัยแล้งบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันความรุนแรงจากการเกิดพายุลูกเห็บได้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตรตระหนักถึงความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นภารกิจตามยุทธศาสตร์ของกรมฝนหลวงฯ ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ และด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ จึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น เตรียมความพร้อมเพิ่มเติมจากการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน เพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ โดยใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน (Super King Air) และนำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนของผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ ยิงใส่เข้าไปภายในก้อนเมฆที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส เพื่อเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำ โดยที่ผลึกน้ำแข็งจะละลายตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายอันเกิดจากพายุลูกเห็บลงได้ ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้จัดเครื่องบิน Super King Air เตรียมพร้อมปฏิบัติการไว้ที่ กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจะสามารถขึ้นบินปฏิบัติการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทันทีในภาวะที่สภาพอากาศมีโอกาสเกิดพายุลูกเห็บ
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตร และภารกิจในการเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น กรมฝนหลวงฯ ได้มีแผนจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา โดยได้ตั้งฐานเติมสารฝนหลวงเพิ่มขึ้นอีก 1 ฐาน ณ จังหวัดขอนแก่น เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเน้นการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นกับป่าไม้ และการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้เขื่อนหลักทั้ง 12 เขื่อน นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ในการแจ้งแผนและผลปฏิบัติการ อาทิ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด เป็นต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ประชาชนและเกษตรกรสามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวง เพื่อบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ การแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า หรือพายุลูกเห็บ ได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ