ดร.พระครูสารกิจประยุต (หลวงตากาบ) เจ้าอาวาสวัดขุนพรหมดำริ จ.มหาสารคาม รองเจ้าคณะอำเภอเมืองมหาสารคาม ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 7 และ คณะทำงานรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ประเด็นพระสงฆ์กับความมั่นคงทางสุขภาพ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวถึงการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติในพื้นที่ว่า หลังจากที่มหาเถรสมาคมประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญต่อสุขภาวะของพระสงฆ์ เนื่องจากพระสงฆ์ถือเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของประเทศไทย ทำหน้าที่อบรมคำสอนทางพุทธศาสนา ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสร้างระบบดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ให้ครอบคลุม
ดร.พระครูสารกิจประยุต กล่าวว่า จากการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ นำมาซึ่งการปฏิบัติในระดับพื้นที่ภาคอีสาน ภายใต้การนำของพระเทพเมธี เจ้าคณะภาค 9 ได้จัดการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามลำดับชั้นการปกครองพระสงฆ์ มาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพ ทั้งนี้ คณะภาค 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยแบ่งลำดับชั้นการปกครองออกเป็น ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล “ในการประชุมของคณะสงฆ์ มีมติมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดพระสงฆ์ อสม.เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน เรื่องการดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์และคนในชุมชนให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ” ดร.พระครูสารกิจประยุต กล่าว
ดร.พระครูสารกิจประยุต กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ได้ดำเนินการจัดโครงการนำร่องส่งเสริมองค์ความรู้ เรื่องการดูแลสุขภาพ แด่พระสงฆ์ อสม. ในระดับอำเภอ โดยคัดเลือกพระสงฆ์ อสม.จากทุกอำเภอ อำเภอละ 2 รูป รวมทั้งหมด 4 จังหวัด เข้าร่วมอบรมเมื่อวันที่ 18 – 22 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาซึ่งการอบรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้ามาช่วยสนับสนุนถวายการจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้ความรู้แด่พระสงฆ์
“มองว่าควรจัดกิจกรรมส่งเสริมองค์ความรู้ เรื่องการดูแลสุขภาพแด่พระสงฆ์ อสม. ระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัดด้วย เพื่อกระจายองค์ความรู้ และเพิ่มจำนวนพระสงฆ์ อสม.ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่” ดร.พระครูสารกิจประยุต กล่าว
ดร.พระครูสารกิจประยุต กล่าวถึงงบประมาณที่ใช้ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ว่า ปัจจุบันยังไม่มีงบประมาณสำหรับใช้ในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว ทั้งนี้ในส่วนของกองทุนสุขภาพตำบล ทางคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 มีอำนาจตามมติคณะรัฐมนตรีจริง แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีส่วนร่วมในอำนาจบริหารจัดการ ดังนั้นหากทาง สปสช.ประสานงานมายังหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลกองทุนนี้ ทาง กขป.จึงจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้
ดร.พระครูสารกิจประยุต กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาเรื่องงบประมาณในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว อยากเสนอให้มีเวทีพูดคุย โดยเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล รพ.สต. คณะสงฆ์ ผู้นำชุมชนทุกระดับ และประชาชน มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อสะท้อนปัญหาเรื่องสุขภาวะของคนในชุมชน ช่วยกันเสนอแนวทางการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหา รวมถึงรับทราบนโยบายการใช้ประโยชน์จากกองทุนสุขภาพตำบลร่วมกัน
นอกจากนี้ เห็นควรให้มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) สร้างกระบวนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งระบบ ตามหลักการ “บวร” ที่ประกอบด้วย บ้าน วัด โรงเรียน รวมทั้งจัดกระบวนการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องในระยะยาวที่มั่นคง และควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติด้วย
ข่าว ภาพ จาก ศูนย์ข่าว สปสช