วังน้ำมอก อยู่ใน ต.พระพุทธบาท อ.สังคม จ.หนองคาย เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ได้ 45 ปี
คุณติณภพ สุพันธะ ประธานศูนย์ประสานงานท่องเที่ยวป่าพื้นบ้าน อาหารชุมชน บ้านวังน้ำมอก เล่าว่า ชาวบ้านอพยพมาจากศรีเชียงใหม่ บ้างก็มาไกลจากกำแพงนคร (หรือนครหลวงเวียงจันทน์) ของลาว หลังจากที่ลาวแตก นอกนั้นก็มีที่อพยพมาจากอุดรธานีบ้าง ขอนแก่นบ้าง รวมๆ แล้ว 45 ครอบครัว เข้ามาตั้งรกรากแถวนี้ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นป่า ตอนมาอยู่ใหม่ๆ ประมาณ 45 ครอบครัว ก็ทำอาชีพตัดไม้เผาถ่าน ทำสวน ทำไร่ เมื่อที่นี่อยู่สุขสบาย ก็เลยไปชักชวนญาติๆ เพื่อนๆ มาอยู่ จนเพิ่มเป็น 160 ครอบครัว
ในปี 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาที่วัดหินหมากเป้ง ที่อยู่ก่อนทางเข้าหมู่บ้าน ทรงดำริว่า พื้นที่แถบนี้ น่าจะทำโครงการพระราชดำริ ฟื้นฟูอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ บ้านวังน้ำมอกก็เลยเป็นหมู่บ้านแรก ที่ประกาศตัว เป็น “ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า” พอปี 2540 ก็เริ่มต่อยอดโครงการหลวงเช่น โครงการป่าพื้นบ้าน อาหารชุมชน
“ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น จะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของคนทั้งหมู่บ้าน เป็นวัฒนธรรมหมู่บ้าน คนในชุมชนต้องเป็นคนทำ อย่างเช่น เด็กรักษ์ป่า ก็จะเป็นเด็กๆ ในหมุ่บ้านที่มาเรียนรู้แล้วเป็นมัคคุเทศน์น้อย หรืออย่างงานบุญเดือนหก งานบุญเบิกบ้านศาลปู่ย่า ก็จะเป็นประเพณีที่หมู่บ้านนี้จะต้องทำทุกบ้าน โดยจะจัดเป็นพิธีสวดกลางบ้านเพื่อให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข มีการฟ้อนรำ เป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากทางเทือกเขาภูพาน หนองบัวลำภู”
และที่ขึ้นชื่อกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานสำหรับหมู่บ้านแห่งนี้ ก็คือ การดูแลรักษาป่าชุมชน โดยท้ายหมู่บ้านห่างไปราว 1 กม.จะมีป่าธรรมชาติ เรียกว่า ภูผีปอบ มีเนื้อที่ราวๆ 3,500 ไร่ และเป็นต้นทางไปสู่การเกิดขึ้นของอาชีพ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การกินอยู่ของคนในชุมชน จนเกิดเป็นความผูกพัน และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เพื่อให้พวกเขามีกินมีใช้ไปชั่วลูกชั่วหลาน
ทุกวันนี้ มีผู้ไปศึกษาดูงาน ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ และนักเรียนนักศึกษา ลงท้ายการพักค้างแรม ที่หมู่บ้านจัดทำเป็นโฮมสเตย์รองรับ มีอยู่ 20 หลัง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันรับรองแขกเหรื่อไม่ว่างเว้น
ใครมาถึงหมู่บ้าน จะต้องเดินผ่านซุ้มที่จัดทำไว้ด้านหน้า เหมือนปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไม่ให้ติดตามเข้ามาในหมู่บ้าน โดยด้านบนซุ้มจะประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง พระคู่หมู่บ้านไว้ ด้านในหมู่บ้าน จะมีธารน้ำสายใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในหมู่บ้าน หากจะหลีกหนีความวุ่นวาย ไปหาที่สงบๆ พักผ่อน เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมการกินอยู่ที่แตกต่าง ที่นี่มีให้เรียนรู้มากมายก่ายกอง ขอแค่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของหมู่บ้านและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกันและกัน
และเมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำคณะมาดูงาน โฮมสเตย์ “งามล้ำวังน้ำมอก” กินข้าว เซาเฮือน ซึ่งหมู่บ้านวังน้ำมอก มีเอกลักษณ์ถ่ายทอดเป็นรูปธรรมด้วยเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และภาษา ไม่มีความข้อขัดแย้ง ในหมู่บ้าน
ผศ.ดร.คมศร. ลมไธสง รองผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการ สำนักบริการวิชาการ นำบุคลากร อบต.บ้านกง นำโดยนายธนพิสิฐ ใจกว้าง รองนายก อบต.บ้านกง เจ้าหน้าที่ และผู้นำชุมชนตำบลบ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น. จำนวน 18 คน ศึกษาดูงานโฮมสเตย์ “งามล้ำวังน้ำมอก”
คุณติณภพ สุพันธะ ประธานกลุ่มท่องเที่ยววังน้ำมอกโฮมสเตย์ เล่าให้ฟังว่า “บ้านวังน้ำมอก เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มี 200 ครอบครัว ประชากร 700 คน ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ และหาของป่ามาขายเป็นอาชีพเสริมนอกฤดูกาลผลิต หมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้วัดหินหมากเป้ง ของหลวงปู่เทสก์ เทศรังสี จากปากทางลึกเข้ามาประมาณ 9 กิโลเมตร”
จากนั้นคุณติณภพ เล่าการจัดตั้งการท่องเที่ยวโดยชุมชนว่า “บ้านวังน้ำมอก เริ่มดำเนินงานมาเมื่อ ปี 2543 เมื่อ20 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยชุมชนอย่างแท้จริง ไม่มีนักวิชาการเข้ามาให้ความร่วมมือและให้คำปรึกษา ครั้งแรกมีสมาชิก 3 คน ปัจจุบันมี 130 คน โดยใช้ป่าชุมชน และวิถีชีวิตในหมู่บ้านมาเป็นจุดขายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งใช้เวลาปรับกันอยู่ถึง 3 ปี จึงมีจุดยืนและจุดขายจนทุกวันนี้”
คุณติณภพ ได้ย้ำว่า “ประเพณี “กินข้าว เซาเฮือน” เป็นการพักอาศัยอยู่กับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้วิถีชวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ฝึกตนให้เป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย ปฏิบัติตามกฎระเบียบของหมู่บ้าน เคารพสิทธิของเจ้าของพื้นที่ และไม่ทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อปฏิบัติของชุมชน ไม่ลบหลู่ความเชื่อของชุมชน”
ทางด้านนายธนพิสิฐ ใจกว้าง รองนายก อบต.บ้านกง ที่นำคณะมาดูงาน เปิดเผยว่า “ประทับใจวิธีการนำเสนอเล่าเรื่องราวพร้อมกับการแสดง ประทับใจความเป็นเอกลักษณ์ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมด้วยเครื่องประดับ ชุดแต่งกาย และภาษา และที่สำคัญที่สุด คือการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ไม่มีความขัดแย้ง บ้านกง จะนำวิธีการไปพัฒนา และปรับรูปแบบการบริหารโฮมสเตย์ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของร่วมกัน”
ข้อมูลจาก นสพ คมชัดลึก และมหาวิทยาลัย ขอนแก่น