นครขอนแก่นเปิดเวทีสมาร์ทเดย์ ปี 2 เนรมิตพื้นที่ว่างเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ : จากแนวคิดในการส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองขอนแก่น และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสาน รวมถึงรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันงดงาม จึงได้ทำโครงการเพื่อฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่ว่างใจกลางเมือง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมือง อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการก่อเกิดรายได้แก่พี่น้องในชุมชนให้ดีขึ้น
วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 17.00 น. ณ อาคารผู้โดยสาร สถานีขนส่งปรับอากาศเดิม (บขส.2) เทศบาลนครขอนแก่น จัดกิจกรรมขอนแก่นสมาร์ทเดย์ ปีที่ 2 โดยมีนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวรายงานถึงแนวคิดเรื่องการพัฒนาย่านและการพัฒนาขนส่งสาธารณะ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ธนารักษ์พื้นที่ขอนแก่น รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น ตัวแทนมูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า พนักงานเทศบาลนครขอนแก่น กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น พี่น้องสื่อมวลชน ตลอดทั้งพี่น้องชาวชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงเข้า มาร่วมรับฟัง-แลกเปลี่ยนความคิดเห็นฯ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสันติ เหล่าบุญเสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
จากการเติบโตของเมืองขอนแก่น ทำให้การจราจรหนาแน่นแออัดในเขตเมือง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรองรับการเจริญเติบโตของจังหวัดขอนแก่น จึงได้ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสาร( เดิม) แห่งที่ 1 และสถานีขนส่งปรับอากาศ (เดิม) แห่งที่ 2 โดยเปิดให้บริการเพียงแห่งเดียว คือ สถานีขนส่งผู้โดยสาร แห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเมืองเก่าห่างจากตัวเมืองประมาณ 9 กิโลเมตร มีผลทำให้ พื้นที่ทั้งสองแห่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่า กิจการค้าเศรษฐกิจซบเซาลง อีกทั้งเกิดภูมิทัศน์ที่ไม่สวยงามแก่กับเมือง
เทศบาลนครขอนแก่น จึงได้จับมือกับศูนย์สร้างสรรค์และออกแบบ (TCDC )ภาคีเครือข่ายประชุมแลกเปลี่ยน ในการพัฒนาพื้นที่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงได้ข้อสรุปความคิดเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวสามารถแบ่งการจัดการพื้นที่เป็น 6 ย่าน + 1 เพื่อพัฒนาเป็นย่านสร้างสรรค์ ดังนี้ ย่านที่ 1 ถนนศรีจันทร์ / ถนนกลางเมือง / อาคารธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (แบงค์ชาติเก่า) / ตลาดโบ๊เบ๊ ย่านที่ 2 บขส. 1 / สวนสาธารณะรัชดานุสรณ์ / ตลาด อ.จิระ / ศูนย์เยาวชนและครอบครัวเทศบาลนครขอนแก่น / หอภาพยนตร์แห่งชาติ ย่านที่ 3 รอบบึงแก่นนคร / รถรางรอบบึง (Tram) ย่านที่ 4 รอบบึงทุ่งสร้าง ซึ่งในขณะนี้โครงการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์บึงทุ่งสร้าง (บริเวณพื้นที่จำนวน 120 ไร่) มีความคืบหน้าอย่างมาก และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ การปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งนี้ ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียว พื้นที่ออกกำลังกาย ลานอเนกประสงค์ เลนจักรยาน เลนจ๊อกกิ้ง ตลอดจนมีพื้นที่ลานอเนกประสงค์ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม และเตรียมพัฒนาพื้นที่อื่นๆเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของบึงทุ่งสร้าง ได้แก่ Khon Kaen Eye หอสมุดแห่งชาติ และพระบรมราชานุสาวรีย์ ย่านที่ 5 พื้นที่รอบสถานีรถขนส่งสาธารณะ LRT (Transit Oriented Development : TOD) ซึ่งเป็นพื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ย่านที่ 6 มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ + 1 คือ ศูนย์รวมโรงเรียนกวดวิชา ถนนหน้าเมือง (Tutor Street) โดยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมโครงการใช้ประโยชน์พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 1 ซึ่งมีมติเห็นชอบให้เทศบาลนครขอนแก่นสามารถดำเนินการ คือ
1 เห็นชอบให้เทศบาลนครขอนแก่นดำเนินโครงการใช้ประโยชน์พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 1 ซึ่งเปิดตลาดนัด บขส. (ชั่วคราว) จำนวน 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง
2 ผู้ประกอบการจะจัดตามโซน แบ่งตามประเภทของอาหาร,สินค้า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
3 นัดหมายการประชุมคราวต่อไป ประมาณเดือนสิงหาคม นี้
4 กำหนดเปิดตลาดนัด บขส.อย่างเป็นทางการ ประมาณช่วงออกพรรษา
ทางด้านนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า การขับเคลื่อนจังหวัดขอนแก่นสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ( SMART CITY) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นั่นคือ “ การมีส่วนร่วม” ของทุกคนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ซึ่งภาครัฐเองไม่สามารถดำเนินงานโดยลำพังได้ เป็นที่มาของกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเมืองผนวกกับความท้าทายอย่างสร้างสรรค์ จึงเกิดการจัดกิจกรรมสมาร์ทเดย์ในวันนี้ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ( ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2560 ณ ธนาคารแห่งประเทศไทยเดิม) เป็นกิจกรรมต่อยอดจากการนำนวัตกรรมการพัฒนาเมืองทั้ง 43 นวัตกรรมมาขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมทั้งด้านขนส่งสาธารณะ เศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาพื้นที่
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นการดำเนินกิจกรรมภายใต้ โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเมืองพิเศษเทศบาลนครขอนแก่น ระยะ ที่ 3 เกิดจากความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดทั้งภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ-เอกชน เพื่อเป็นเวทีกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการขอนแก่นเพื่อระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.เพื่อแสดงผลงานจากการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาขนส่งสาธารณะ โดยการ สนับสนุนจากไจก้า และหาผู้ดำเนินการขยายผล
2. เพื่อสร้างการรับรู้และนำเสนอความคืบหน้าของการพัฒนาย่านใจกลางเมืองเก่า และอาคาร
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคะวันออกเฉียงเหนือ (เดิม)
3.เพื่อระดมความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาย่านเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการ ระยะยาวอันเป็นผล
จากกิจกรรมของโครงการ
และในปีนี้ ได้ตั้งเป้าหมายของการขับเคลื่อนโครงการอย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 2 โครงการ คือ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ โดยกรมธนารักษ์จะดำเนินการปรับปรุงธนาคารแห่งประเทศไทย (เดิม) เป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์ และให้เทศบาลนครขอนแก่นฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบเพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมต่อในแต่ละย่านสร้างสรรค์ที่จะดำเนินการพัฒนาในอนาคต ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ,สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ,กลุ่มเมล์เดย์,บริษัทฉมาโซเอน,มูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า สำหรับการจัดงานครั้งนี้ แบ่งการดำเนินกิจกรรมออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “ทลายข้อจำกัดภาครัฐ เพื่อการพัฒนาย่านอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายธวัชชัย รื่นรมย์สิริ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น คุณอิชวุฒิ ฤทธาภัย ธนารักษ์พื้นที่ขอนแก่น คุณกิรณา จิรเศษฐากุล หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์ออกแบบขอนแก่น (TCDC) คุณชาญณรงค์ บุริศตระกูล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดขอนแก่น คุณเจริญลักษณ์ เพชรประดับ ตัวแทนจากมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า ช่วงที่ 2 เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “ทำอย่างไร ให้ขอนแก่นไปไกลโลด” ได้รับเกียรติจากคุณนนท์ พลสามารถ-คุณวิภาวี กิตติเธียร ตัวแทนจากกลุ่มแคนมูฟและเมล์เดย์ คุณฮารุฮิโกะ อิมาอิ ตัวแทนจากไจก้า คุณธวัชชัย วนาพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการส่วนการโยธา เทศบาลนครขอนแก่น คุณผกาสวรรค์ ปรัชคุปต์ นักผังเมืองชำนาญการ อบจ.ขอนแก่น ผ่านกลไกลการมีส่วนร่วมภาคประชาชน กลุ่มพลเมืองจิตสาธารณะช่วยกันขับเคลื่อนระยะเริ่มต้น จึงจำเป็นต้องนำเรื่องที่สามารถลงมือปฏิบัติได้ทันทีมาเป็นกิจกรรมนำร่อง เพื่อทำความเข้าใจระดมความคิดเห็นหารือแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และการจัดการพื้นที่เพื่อสนับสนุนโครงการของเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น สรุปในตอนท้ายว่า การดำเนินงานสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ จะต้องเกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับที่กว้าง และทำลายข้อจำกัดของรัฐ ดังนั้นการพัฒนาย่านสร้างสรรค์จึงตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ เป็นการสร้างบรรยากาศเมืองสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดเป็นย่านสร้างสรรค์ เกิดการลงทุนกิจกรรมทางธุรกิจสร้างสรรค์ใหม่ๆ ทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงการลงทุนเพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์ของย่านให้มีความเหมาะสม สะดวกปลอดภัย และสอดคล้อง กับวิถีชีวิตยุคใหม่ โดยไม่ทำลายวิถีชีวิตเดิม ได้อย่างแท้จริง
ข่าว ภาพ เพจ เทศบาลนครขอนแก่น