วันที่ 27 สิงหาคม 2561 แพทย์หญิงซอมย่า สะวามินาทาน (Dr. Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ศูนย์แพทย์วัดหนองแวงพระอารามหลวง ซึ่งดำเนินการโดยโรงพบาบาลขอนแก่น วัดหนองแวงพระอารามหลวงให้พื้นที่ และ เทซศบาลนครขอนแก่นให้งบประมาณเพื่อปรับปรุงอาคาร โดยมี นายจุลนพ ทองโสภิต รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น และคณะ พร้อมด้วย นพ. ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ. ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น และคณะให้การต้อนรับ
แพทย์หญิงซอมย่า สะวามินาทาน (Dr. Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในพื้นที่ของประเทศไทย นั้นถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพ เพราะนอกจากการรักษาแล้ว ยังมีการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค โดยส่วนตัวเชื่อว่าแนวคิดที่ประเทศไทยทำอยู่นั้น ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะเน้นการอยู่ดีมีสุข และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
แพทย์หญิงซอมญ่า กล่าวว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ในเขตจังหวัดขอนแก่น ตนได้เห็นรูปแบบการทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งมีความน่าสนใจ เพราะการสร้างสุขภาพได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานรัฐอื่นๆ รวมไปถึงชุมชน วัด อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้ดูแลในชุมชน (Care giver) ได้ร่วมกันสร้างสุขภาพ และดูแลรักษาสุขภาพให้ประชาชน อย่างไร้รอยต่อจากโรงพยาบาลใหญ่ ไปสู่โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย จนถึงชุมชน ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การสร้างหลักประกัน สุขภาพของไทยประสบความสำเร็จจนเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ได้
แพทย์หญิงซอมญ่า กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้มีการต่อยอดจากการทำงาน คือ การวิจัย การบันทึก การเก็บข้อมูล เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เป็นช่องทางในการเก็บรวบรวมแนวทางการทำงาน และสถิติที่เกิดขึ้น เพื่อให้เห็นว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพได้ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ และลดอัตราการเจ็บป่วย ได้อย่างไร เพราะปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัยกับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ และต้องการเห็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำไปเดินรอยตามในอนาคต ตนในฐานะตัวแทนองค์การอนามัยโลกยินดีให้การสนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดทำรายงานการดำเนินงาน เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เข้ามาศึกษางานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยด้วยตนเองจะได้ศึกษาจากเอกสารรายงานที่ทำขึ้นนี้.