กฟผ. เปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 4 เพื่อชาวอีสาน มีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง
กฟผ.รองรับการขยายตัวของการใช้พลังงานฟ้าในภาคอุตสาหกรรม เปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 4 เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง เพียงพอ เพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ธุรกิจอุตสาหกรรมและเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจที่จะเจริญเติบโต
วันที่ 5 ก.ย.ที่ สถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 4 ตั้งอยู่เลขที่ 200 หมู่ที่ 3 ถนนมะลิวัลย์ ต.โสกม่วง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น นายสุรพงษ์ รังษีสมบัติศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการระบบส่ง (ชพสก.) และ นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (ชสค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในนาม กฟผ. ส่งมอบสถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 4 ให้ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้รับมอบในนามประชาชนจังหวัดขอนแก่น มี นายบุญส่ง จีราระรื่นศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ.), นายวรวิทย์ รวีนิภาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อฟอ.), นายณรงค์ ไตรกิจวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง (อฟพ.) ในนาม กฟผ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ ผู้บริหารจากสำนักงานกลาง กฟผ. จ.นนทบุรี ร่วมส่งมอบ โดยมี นายณัฐวุฒิ ถุนนอก นายอำเภอบ้านฝาง ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน ชุมชน ในพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมรับมอบและเป็นสักขีพยาน
นายสุรพงษ์ รังษีสมบัติศิริ กล่าวว่า สถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 4 มีเนื้อที่ประมาณ 194 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าบริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู และขอนแก่น เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยรับไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไชยะบุรีใน สปป.ลาว กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ (จำนวน 7 เครื่อง) เพื่อเข้าระบบส่งของ กฟผ. บริเวณจังหวัดเลย ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 500,000โวลต์ ท่าลี่ และส่งไฟฟ้าต่อไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 4 ด้วยเสาวงจรคู่ระยะทาง 173 กิโลเมตร โดยมีอุปกรณ์หลักคือ อาคารพร้อมอุปกรณ์ 500,000โวลต์ GIS, อาคารพร้อมอุปกรณ์ 230,000 โวลต์ GIS ,หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง 500/230 kV. ขนาด 1,000 MVA จำนวน 1ชุด , สายส่งไฟฟ้าแรงสูงระดับแรงดัน 500,000 โวลต์ และระบบควบคุมพร้อมป้องกันสถานีไฟฟ้าแรงสูง
ด้านนายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ กล่าวด้วยว่าในการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความเชื่อถือได้ให้กับระบบส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศไทย ใช้รองรับการขยายตัวของการใช้พลังงานฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ส่วนไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะถูกส่ง เข้าระบบส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ไปยังภาคกลาง ซึ่งทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง เพียงพอ เพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ธุรกิจอุตสาหกรรมและเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจที่จะเจริญเติบโตต่อไป.