26 ตุลาคม 2561 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดงาน อีสาน 4.0 พลิกโฉมประเทศไทย ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีนายสันติ เหล่าบุญเสงี่ยม รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับ ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงพื้นที่และจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรขึ้น ณ จังหวัดนครราชสีมา ในการประชุมครั้งนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบใน “ยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอีสาน” เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนภาคอีสานสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเน้นการชูอัตลักษณ์และมุ่งการยกระดับศักยภาพของพื้นที่ และยุทธศาสตร์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยชั้นนำของภาคอีสาน 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีแผนพัฒนาไว้ 5 ด้าน เช่น การบริหารจัดการน้ำให้อีสานมีน้ำที่พอกินพอใช้ ไม่มีน้ำแล้ง น้ำท่วม ผ่านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบภายใน 5 ปี การแก้ปัญหาความยากจน สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้โอกาสการ พัฒนาโครงข่ายคมนาคม พัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อน
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “โครงการอีสาน 4.0 เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียง เหนือสู่มิติใหม่ของการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปัญหาและประเด็นท้าทาย อาทิ การขาดแคลนน้ำทั่วทั้งภาค มีคนจนมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรจึงไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนได้ ภาคเกษตรเป็นแบบดั้งเดิม พึ่งธรรมชาติ มีผลิตผลิตต่ำและมีการใช้สารเคมีสูง อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปเกษตรขั้นต้น มูลค่าเพิ่มต่ำ การลงทุนใหม่ๆ มีน้อย ขณะที่เศรษฐกิจของภาคมีขนาดเล็ก มีอัตราการขยายตัวต่ำ ส่วนการค้าชายแดน สินค้าส่งออกผลิตจากนอกภาคไม่สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับภาค ทรัพยากรการท่องเที่ยวยังไม่ได้รับการพัฒนา ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น”
“กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ชุมชน บ้านภูถ้ำ ภูกระแต ในอำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ที่แต่เดิมประสบกับปัญหาน้ำแล้งน้ำหลากซ้ำซากมานาน แหล่งน้ำสาธารณะขาดการดูแล และไม่มีระบบบริหารจัดการมากว่า 50 ปี แต่ปัจจุบันพื้นที่13 หมู่บ้านของทั้งตำบลแวงน้อย บริเวณนี้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี มีความมั่นคงด้านน้ำและอาหาร และสามารถสร้างผลิตผลทางการเกษตรให้กับชาวบ้านปีละกว่า 12 ล้านบาท จนสามารถขยายผลความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านศูนย์เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำชี ใน 7 ตำบลข้างเคียง ของจังหวัดขอนแก่น และ 10 จังหวัดลุ่มน้ำชี ณ ปัจจุบัน ที่สำคัญ ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ขยายผลการบริหารจัดการน้ำไปแล้ว จำนวน1,478 หมู่บ้านทั่วประเทศ”
“การขับเคลื่อนโครงการอีสาน 4.0 จำเป็นจะต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) โครงสร้างทางกายภาพ โดยการบริหารจัดการน้ำให้แก่พื้นที่ที่ขาดแคลน 2) โครงสร้างเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ต 3) โครงสร้างทางปัญญา ที่จะเกิดขึ้นได้โดยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่จะเป็นแกนหลักสำคัญในการยกระดับชุมชน และ 4) โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ที่จะผลักดันให้เป็นสังคมของการเกื้อกูลและแบ่งปัน”
ภายในงานยังมีการมอบต้นแบบผลงานและผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มเกษตรกรภายใต้โครงการนำรองเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเกษตรกร โดยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนการจัดนิทรรศการ “ของดีอีสาน 4.0 โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ไก่ไม่เก๊า สายพันธุ์ KKU1 (ไก่3 Low) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น , ผลิตภัณฑ์ โปรตีนจิ้งหรีดแปรรูปเพื่อสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ,ผลิตภัณฑ์ โคเนื้อพันธุ์โคราชวากิว จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ กรรมวิธีการผลิตข้าวเปลือกแบบเพาะงอก จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
จะเห็นได้ว่า โครงการอีสาน 4.0 ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมใจผนึกกำลังเพื่อผลักดันอีสานไปสู่มิติใหม่ของการเป็นศูนย์เศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อันจะนำไปสู่เศรษกิจอีสานที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต ต่อไป