การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณการเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวร ที่มิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว การทอดกฐินในเมืองไทย แบ่งออกตามประเภทของวัดที่จะไปทอด คือพระอารามหลวง ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปพระราชทาน เครื่องกฐินทานนี้จัดด้วยพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง เรียกว่า กฐินหลวง ส่วนวัดราษฎร์ทั่วไป คณะบุคคลจะไปทอดโดยการจองล่วงหน้าไว้ก่อน ตั้งแต่ในพรรษา ก่อนจะถึงเทศกาลทอดกฐิน ถ้าวัดใดไม่มีผู้จอง เมื่อใกล้เทศกาลกฐิน ประชาชนทายกทายิกาของวัดนั้น ก็จะรวบรวมกันจัดการทอดกฐิน ณ วัดนั้นในเทศกาลกฐิน การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ให้เป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น
และที่วัดป่าธรรมประดิษฐ์ ต.สร้างแป้น อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ได้จัดงานทอดกฐินสามัคคี โดยมีประชาชน พุทธศาสนิกชน มาร่วมทำบุญ จำนวนมาก ภายในงานมีโรงทาน จากผู้มีจิตศรัทธา มาสร้างโรงทานเลี้ยง อาหาร และเครื่องดื่ม กว่า 20 โรง โดยวัดป่าธรรมประดิษฐ์ เป็นวัดป่า สายพระกรรมฐาน เริ่มต้นจากที่มีชาวบ้าน ผู้มีจิตศรัทธา บริจาคที่ดิน จำนวน 8 ไร่ ช่วงแรกตั้งเป็นสำนักสงฆ์ก่อน ต่อมาชาวบ้าน ร่วมกันบริจาคที่และสำนักสงฆ์ มอบถวายให้หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าแก้วชุมพล ลูกศิษย์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งท่านได้มรณภาพแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา จากแรงศรัทธา และความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน และก็มีญาติธรรม ลูกศิษย์ ลูกหา บริจาค ซื้อที่ดิน เพื่อขยายเขตของวัด จนปัจจุบันนี้ มีเนื้อที่เกือบ 189 ไร่
ทางด้าน พระอาจารย์ ประเทือง จักกะธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมประดิษฐ์ ได้กล่าวว่า ยอดบริจาค ที่พี่น้องประชาชน ร่วมทำบุญครั้งนี้ ทางวัดจะนำไปก่อสร้างเจดีย์ เพื่อบรรจุอัฐฐิธาตุ หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม โดยเจดีย์ จะตั้งอยู่บริเวณลานพื้นที่ ทางเข้าวัด มีความสูงประมาณ 20 เมตร