สาธารณสุข ขอนแก่น เตือน ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัย ช่วงอากาศร้อนจัด ระวังโรคลมแดดหรือฮีตสโตรก

สาธารณสุข ขอนแก่น
เตือน ประชาชนจังหวัดขอนแก่นดูแลสุขภาพอนามัย ช่วงอากาศร้อนจัด ระวังโรคลมแดดหรือฮีตสโตรก
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ นักกีฬาหรือคนทำงานกลางแจ้งและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 1 พค 2562 สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น แจ้งเตือนประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่น ในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองและคนรอบข้าง ในช่วงอากาศร้อนจัดจากสภาวะโลกร้อน ให้ปลอดภัยจากโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat stroke) โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่เชื่อว่าเสียชีวิตจากโรคนี้ไม่น้อย ในแต่ละปี
นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้เสียชีวิต โดยสงสัยเกิดจากอากาศร้อนจัดที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมานั้น โรคลมแดดเป็นภาวะวิกฤตของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ จากการได้รับความร้อนมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายในภาวะอากาศร้อนจัด เป็นเวลานาน อาจเกิดขึ้นได้แม้กับ ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ความผิดปกติที่รุนแรงมากที่สุด คือทำให้สมองไม่สามารถควบคุมการทำงาน ของอวัยวะต่างๆได้ รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้อยู่ในระดับ ที่เหมาะสมอยู่เสมอ ระหว่าง 36.5-37 องศาเซลเซียส จนเพิ่มสูงขึ้นเกิน 40 องศาฯ ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน โดยมีโอกาสเสียชีวิตถึง 17-70 เปอร์เซ็นต์ อาการสำคัญ ได้แก่ ตัวร้อนจัด เพ้อ หรือหมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดลง ช็อก ผิวหนังแห้งและร้อน ระดับความรู้สึกตัวลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย หมดสติ เกร็ง ชัก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากการเพลียแดดหรือเป็นลมแดดทั่วไปที่จะพบมีเหงื่อออกด้วย เมื่อเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยในประเทศไทยการเสียชีวิตจากโรคนี้ในแต่ละปี มีจำนวนมาก แต่มักถูกมองว่าเป็นการเสียชีวิตจากหัวใจวาย การทำงานของหัวใจล้มเหลว
นายแพทย์สมชายโชติ ได้เน้นย้ำว่า ประชาชนต้องป้องกันตนเอง โดยการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ให้ได้ 2 ลิตรต่อวัน ผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ จะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับอากาศร้อนได้ เพราะน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ให้อยู่ที่ 37 องศาฯ หากสังเกตุปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะสีเข้มขึ้นและออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ ส่วนการออกกำลังกายสามารถกระทำได้ โดยค่อยๆ ออกกำลังกาย และเพิ่มระยะเวลาขึ้นเรื่อยๆ หากพบเห็นผู้มีอาการ ให้นำเข้าในที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อนหรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วและรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดามากๆ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 จึงประชาสัมพันธ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น