สปสช. เขต 7 ขอนแก่น จัดชี้แจงรับยาจากร้านยาใกล้บ้าน ลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่

สปสช. เขต 7 ขอนแก่น จัดชี้แจงรับยาจากร้านยาใกล้บ้าน ลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ คาดมีร้านยาเข้าร่วมกว่า 70 แห่ง ดีเดย์ผู้ป่วยรับยาจากร้านยาแทนโรงพยาบาล 1 ตุลาคมนี้ วันที่ 24 กันยายน 2562 ณ โรงแรมราชาวดีรีสอร์ทแอนด์โฮเทล จังหวัดขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น จัดประชุมชี้แจงการลดความแออัดในโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบบริการ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยใช้กลไกร้านยา โดยมีผู้ประกอบการร้านยาจาก 4 จังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนไม่น้อยกว่า 76 ร้าน และมีโรงพยาบาลเข้าร่วม 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลมหาสารคาม และโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า สปสช. ได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอยรับยาของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล โดยให้มารับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันแทน ทั้งนี้ปัจจุบันมีร้านยาที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน GPP (Good Pharmacy Practice : หลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน) ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในพื้นที่ เขต 7 ขอนแก่นจำนวน 764 แห่ง และมีบริการต้นแบบการร่วมให้บริการโดยร้านยาที่ดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่แรกในการบริการนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่ต้องรอยานาน และได้รับคำแนะนำการใช้ยาอย่างมีคุณภาพ นายแพทย์ปรีดากล่าวว่า ในปี 2563 คาดว่าจะมีโรงพยาบาลนำร่องในพื้นที่ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น 5 แห่ง ร้านยาไม่น้อยกว่า 76 แห่ง โดยจะเริ่มดำเนินการวันแรกในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญคือต้องเปิดบริการโดยมีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอด ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และจะทยอยขยายเพิ่มเติมในปีถัดไป โดยร้านขายยาต้องดำเนินการเป็นเครือข่ายภายใต้โรงพยาบาล และจ่ายยาให้กับผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล ทั้งนี้ให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยยาที่ผู้ป่วยได้รับจากร้านยาต้องเป็นยาเดียวกับที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดิมที่รับยาอยู่ และที่สำคัญผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ เพิ่มขึ้น
นายแพทย์ปรีดา กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ไปรับยาจากร้านยาไม่ต้องกังวลถึงคุณภาพมาตรฐานการให้บริการจากร้านยา เนื่องจากสภาเภสัชกรรรมจะเป็นผู้ควบคุม กำกับร้านยาให้ปฏิบัติตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเป็นผู้ตรวจสอบความพร้อมตามมาตรฐานของร้านยา ส่วนการส่งยาให้กับผู้ป่วยนั้นผู้ป่วยจะต้องไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ในโรงพยาบาล และจะมีแบบฟอร์มให้กับผู้ป่วยที่จะรับยาจากร้านยาเป็นผู้ให้ความยินยอมว่าจะไปรับยาจากร้านยาร้านใดที่อยู่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น