ขอนแก่นลดความแออัดโรงพยาบาล ใช้กลไกร้านยา รับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ
30 กันยายน 2562 นายสมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และนายแพทย์อุดม อรุณรุ่งศรี ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านขายยาแผนปัจจุบัน ในจังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการกับผู้ป่วยตามโครงการลดความแออัดโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบบริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยใช้กลไกร้านยา: ร้านยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการให้ผู้ป่วยสามารถไปรับยาและรับบริการทางด้าน เภสัชกรรมได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562
โดยจังหวัดขอนแก่นจะมีการดำเนินงานตามรูปแบบที่ 1 และรูปแบบที่ 2 (Model: 1 plus 2) และในระยะแรกของการดำเนินการจะเน้นการให้บริการกับผู้ป่วยในสามกลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดัน และหอบหืดหรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล โดยมีร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.๑) ในจังหวัดขอนแก่นเข้าร่วมโครงการฯ และได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านเภสัชกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 50 แห่ง จากจำนวนร้านขายยาแผนปัจจุบันทั้งหมด 353 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 14 โดยอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จำนวน 35 แห่ง และอีก 15 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชุมแพ บ้านฝาง พล มัญจา ภูเวียง น้ำพอง บ้านไผ่ หนองสองห้อง และหนองเรือ ซึ่งจะดำเนินการเป็นหน่วยร่วมให้บริการด้านเภสัชกรรมภายใต้โรงพยาบาลขอนแก่น โดยร้านยาที่เข้าร่วมในการดำเนินการตามโครงการฯ ทั้งหมดเป็นร้านยาที่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานวิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม ( GPP) มีการเปิดให้บริการอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันและมีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดทำการ ซึ่งจะเป็นการให้บริการภายใต้โรงพยาบาลขอนแก่นเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในการให้บริการ โดยร้านขายยาทั้งหมดมีคุณสมบัติครบถ้วนและได้ผ่านการขึ้นทะเบียนฯ กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุข .ขอนแก่น ร่วมกับโรงพยาบาล ขอนแก่นและภาคีเครือข่ายร้านขายยาในจังหวัดขอนแก่น ได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามโครงการ “ลดความแออัดโรงพยาบาลเพื่อพัฒนาระบบบริการ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยใช้กลไกร้านยา: รับยาใกล้บ้านเภสัชกรใกล้ใจ” เพื่อลดระยะเวลาการรอคอยรับยาของผู้ป่วยและลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยรวมถึงเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยในการใช้ยาและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง