กู่มหาธาตุ หรือปรางค์กู่บ้านเขวา เป็นอโรคยาศาล
หรือโรงพยาบาลโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
แห่งราชอาณาจักรเขมร ที่โปรดให้สร้างอโรคยาศาลขึ้นจำนวน 102 แห่ง
ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อเป็นสถานที่รักษาพยาบาลให้กับประชาชน นอกจากสร้างสถานพยาบาล
ยังสร้างศาสนสถานประจำสถานพยาบาลไว้คู่กันด้วยทุกแห่ง
ภายในประดิษฐาน “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพระพุทธเจ้า” เป็นพระพุทธเจ้าตามคติของมหายาน
พระนามของท่านหมายถึงพระตถาคตเจ้าผู้เป็นบรมครูทางการแพทย์
จากหลักฐานประเภทศิลปะโบราณวัตถุสถานแบบเขมรที่กระจายอยู่หลายพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดมหาสารคาม
ได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ได้แผ่อิทธิพลผ่านมาทางวัฒนธรรม “ขอม” ที่เป็นโบราณวัตถุสถานสร้างขึ้นเนื่องในสายวัฒนธรรมแบบเขมร
โดยได้รับอิทธิพลให้เห็นในรูปแบบปราสาท
ลักษณะการก่อสร้างได้รับอิทธิพลทั้งลักษณะรูปแบบการก่อสร้างและคติความเชื่อมาจากอาณาจักรขอม
หรือเขมรโบราณ จากเมืองพระนคร หรืออาณาจักรเขมรโบราณในเขตเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
มาไม่น้อยกว่าราวพุทธศตวรรษที่ 15
และต่อเนื่องมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 การก่อสร้างในสายวัฒนธรรมเขมร
ส่วนใหญ่มีทั้งใช้อิฐ
ศิลาทรายและศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างและเรียกอาคารเหล่านี้ว่า ปราสาท
หรือปราสาทหิน ใช้เป็นศาสนสถานในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งในศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนานิกายมหายาน
สถานที่ปราสาทขอมโบราณตั้งอยู่จึงเป็น
หลักฐานยืนยันว่าดินแดนเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม
ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ภายหลังชาวอีสานตามความเชื่อวัฒนธรรมลาว
ได้เรียกปราสาทขอมเหล่านี้ว่า “กู่” และกู่บางแห่งก็มีการนำพระพุทธรูปเข้าไปประดิษฐานไว้เพื่อกราบไหว้บูชา
กู่โบราณสถานสมัยขอมในพื้นที่ของมหาสารคาม มีอายุราว 800 ปี
นิยมสร้างด้วยศิลาแลง
กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเช่น กู่บ้านแดง อ.วาปีปทุม กู่สันตรัตน์ อ.นาดูน กู่ศาลานางขาว อ.นาดูน กู่บ้านเขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม
ปราสาท กู่โนนพระบ้านตะคุ อ.แกดำ เป็นต้น รวมทั้งมีการขุดพบศิลาจารึก
และประติมากรรมรูปเคารพแบบเขมรอยู่กับโบราณสถานเหล่านั้นด้วย
สำหรับกู่ที่เป็นอโรคยาศาล
ดูได้จาก 1.แผนผังของกู่จะเหมือนกันรวมทั้งวัสดุที่นำมาสร้างจะเป็นศิลาแลงทั้งหมด
2.กำแพงล้อมรอบกู่ทั้ง
4
ทิศจะมีประตูเข้าออกทางเดียวคือด้านตะวันออกหรือที่เรียกว่าโคปุระ 3.มีปราสาทประธานหลังเดียวหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
4.ภายในกำแพงด้านปราสาทประธานทิศใต้จะมีอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า
1
หลังหันหน้าไปทางทิศตะวันตกอาคารนี้ นักโบราณคดีเรียกว่าบรรณาลัย
ปัจจุบันโบราณสถานสมัยขอมเหล่านั้น ได้กลายเป็นสถานที่ ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีการปลุกจิตสำนึกให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานสมัยขอมเหล่านี้ไว้ให้อยู่คู่ชุมชนสืบไป
ในแต่ละปี จะมีการจัดงานนมัสการสรงน้ำกู่มหาธาตุ
เนื่องจากมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าหากได้มาสักการบูชาสถานที่แห่งนี้จะได้อานิสงส์
และสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะกู่ที่ปรากฏหลักฐานเชื่อว่าเคยเป็นอโรคยาศาล
หรือเคยเป็นสถานพยาบาลในสมัยโบราณมาก่อน อาทิ กู่มหาธาตุ ตั้งอยู่ ต.เขวา อ.เมือง
จ.มหาสารคาม และกู่สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ซึ่งประเพณีสรงน้ำ
“กู่” เทวสถานสมัยขอม
เป็นประเพณีที่พี่น้องชาวอีสาน ที่มีกู่สมัยขอมตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน
ร่วมจัดงานประเพณี สรงน้ำกู่ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 สืบต่อกันมาทุกปี
ตราบจนปัจจุบัน