ปรางค์กู่
โบราณสถานคู่เมืองชัยภูมิ
จังหวัดชัยภูมิ
เป็นหนึ่งในจังหวัดของภาคอีสานที่มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ยาวนาน
มีอารยธรรมหลากหลายสมัย
ซึ่งสามารถย้อนไปจนถึงสมัยทวารวดีในช่วงที่ขอมยังเรืองอำนาจ
ตามหลักฐานได้มีการสันนิษฐานว่าเมืองชัยภูมิแห่งนี้เคยเป็นทางผ่านของขอมมาก่อน
และปัจจุบันยังคงปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นปรางค์ศิลาหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ
“ปรางค์กู่”โบราณสถานที่นับว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดชัยภูมินั่นเอง ปรางค์กู่ เป็นโบราณสถานที่สำคัญ
ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ
และยังเป็นที่เคารพของคนในจังหวัดชัยภูมิอีกด้วย
“ปรางค์กู่” เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มอาคารที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกันกับปราสาท
ตามหลักฐานเชื่อกันว่าปรางค์กู่แห่งนี้เป็น “อโรคยาศาล”
หรือสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงระหว่าง
พ.ศ. 1724-1763 มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์
มีวิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง
ทั้งหมดถูกล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงซึ่งมีโคปุระ หรือซุ้มประตูอยู่ที่ด้านหน้า ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นด้วยศิลาแลง
เว้นก็แต่กรอบประตู หน้าต่าง ทับหลัง และเสาประดับที่เป็นหินทราย
ภายในปรางค์ประธานทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ
ศิลปะแบบทวาราวดีซึ่งเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น
ชาวชัยภูมิให้ความเคารพศรัทธามาก หลังจากที่เราได้สักการะขอพรเรียบร้อยแล้ว
เราก็ค่อยเดินชมไปรอบๆ
จุดสำคัญต่างๆ ของปรางค์กู่ยังคงความสมบูรณ์ไว้มาก
ทั้งหน้าบันที่แกะสลักหินเป็นรูปพระโพธิสัตวอวโรกิเตศวร 4 กรรวมถึงทับหลังที่อยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกที่มีรูปของพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือกาล
กับรูปนางปรัชญาปารมิตา
นอกจากนี้ที่บริเวณวิหารหรือบรรณาลัยนั้นก็มีภาพแกะสลักบนหินเช่นเดียวกัน
ว่ากันว่าบรรณาลัยนี้เป็นที่เก็บยา มีแท่นรูปเคารพอยู่ด้านใน
ซึ่งสร้างตามความเชื่อของไสวนิกายที่นับถือพระเจ้าสามองค์ คือ พระศิวะ พระนารายณ์
และพระ
นอกจากที่ปรางค์กู่แห่งนี้จะเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญต่อจังหวัดชัยภูมิมากแล้ว ความเคารพศรัทธาของคนชัยภูมิที่มีต่อปรางค์กู่ก็มีไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากงานประเพณีที่จัดขึ้นทุกวันเพ็ญเดือน 5 โดยจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในปรางค์ประธานเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันเป็นประจำทุกปี และนี่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ที่สามารถบ่งบอกถึงแรงศรัทธาที่คนชัยภูมิมีต่อปรางค์กู่ได้เป็นอย่างดี