ธปท อีสาน เผย ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2563 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน
โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง ตามการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ หลังจากที่เร่งตัวไปมากในช่วงก่อนหน้าที่มีวันหยุดยาว การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวชะลอลงทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อยจากการลงทุนหมวดก่อสร้าง ขณะที่หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังหดตัวสูง ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเล็กน้อย จากการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ตามการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลงจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวสูงขึ้นตามผลผลิตข้าวและมันสำปะหลังเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามหมวดพลังงาน จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาอาหารสดที่ขยายตัว ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัว สำหรับภาคการเงิน เดือนกันยายน 2563 เงินฝากและสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยเงินฝากคงค้างขยายตัวจากเงินฝากออมทรัพย์ที่ยังอยู่ในระดับสูง จากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ และความต้องการรักษาสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ทั้งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวชะลอลง ตามการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนและการใช้จ่ายภาคบริการ หลังจากที่เร่งไปมากในช่วงก่อนหน้าที่มีวันหยุดยาว ด้านการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์หดตัวมากขึ้น ตามกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็ง สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยว กลับมาหดตัวตามจำนวน
ผู้เยี่ยมเยือนที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก (โมโตจีพี 2019) ส่งผลให้รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารปรับลดลง สำหรับอัตราการเข้าพักแรมอยู่ในระดับใกล้เคียงเดือนก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวชะลอลง หลังจากที่เร่งเบิกจ่ายไปมากในเดือนก่อนซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ โดยรายจ่ายประจำเบิกจ่ายชะลอลงตามหมวดรายจ่ายอื่นของกรมการปกครอง เช่นเดียวกับรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายชะลอลงตามหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท
การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อย จากการลงทุนก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัว ขณะที่การลงทุนในหมวดนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังหดตัวสูงต่อเนื่อง สะท้อนภาพการลงทุนโดยรวมที่ยังเปราะบาง
รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลง จากผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่ได้รับปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม รวมถึงมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกอ้อยมาเป็นมันสำปะหลังมากขึ้น เนื่องจากราคาอ้อยไม่จูงใจ ขณะที่ด้านราคาสินค้าเกษตรหดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่ลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวเล็กน้อย ตามการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามการบริโภคที่ฟื้นตัว การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเยื่อกระดาษที่ขยายตัวตามความต้องการจากต่างประเทศ ขณะที่การผลิตน้ำตาลทรายขาวหดตัวตามผลผลิตอ้อยที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้งในช่วงก่อนหน้าเป็นสำคัญ
มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัว ทั้งการส่งออกและนำเข้าในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์/อุปกรณ์ และหมวดโทรศัพท์มือถือ/อุปกรณ์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งจากช่องทางอื่นมาขนส่งผ่านทางบกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ร้อยละ 0.94 ติดลบน้อยลงตามหมวดพลังงานที่หดตัวน้อยลง จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาอาหารสดที่ขยายตัว ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ร้อยละ 1.7
ภาคการเงิน ยอดเงินฝากและสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินเดือนกันยายน 2563 ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยเงินฝากคงค้างขยายตัวจากเงินฝากออมทรัพย์ที่ยังอยู่ในระดับสูง จากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ และความต้องการรักษาสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ทั้งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือ SMEs ของภาครัฐ