29 มกราคม 2564 ธปท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แถลง ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนธันวาคม 2563 ขยายตัวชะลอลง โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลงบ้าง ตามการใช้จ่ายหมวดบริการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นตามรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณที่ล่าช้าในปีก่อน ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้น จากการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ขยายตัว ซึ่งบางส่วนเป็นการสร้างชดเชยการระบายสต็อกในช่วงก่อน สำหรับรายได้เกษตรกรหดตัวตามผลผลิตอ้อยที่ลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวตามการผลิตน้ำตาล
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอลงบ้างตามหมวดบริการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงท้ายของเดือน ด้านการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันอยู่ในระดับใกล้เคียงเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์ขยายตัวสูงขึ้น จากกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทยอยปรับดีขึ้นก่อนมีการระบาดระลอกใหม่ สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยว หดตัวจากเดือนก่อน โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนหดตัวและค่าใช้จ่ายผู้เยี่ยมเยือนต่อวันชะลอลง จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวจากเดือนก่อน สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมที่ลดลง
รายได้เกษตรกร กลับมาหดตัว จากผลผลิตอ้อยโรงงานที่ลดลงตามพื้นที่เพาะปลูกและผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงก่อนหน้าทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวจากราคาอ้อยโรงงานตามผลผลิตที่ลดลง ราคายางพารา และปศุสัตว์ (สุกรและโคเนื้อ) ตามความต้องการของตลาด
การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวเร่งขึ้น ตามรายจ่ายลงทุนในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณที่ล่าช้าในปีก่อน ด้านรายจ่ายประจำขยายตัวเล็กน้อยในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด จากการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น
การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวสูงขึ้น จากการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยซึ่งบางส่วนเป็นการสร้างชดเชยการระบายสต็อกในช่วงก่อน ประกอบกับการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์กลับมาขยายตัวตามยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัวน้อยลง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว จากการผลิตน้ำตาลที่ลดลงตามปริมาณผลผลิตอ้อย การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงตามความต้องการในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่
มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวเร่งขึ้น ทั้งการส่งออกและนำเข้าจากจีนเป็นสำคัญ
โดยการส่งออกขยายตัวในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ประเภท Cloud Computing
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ด้านการนำเข้าขยายตัวในหมวดโทรศัพท์มือถือ/อุปกรณ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์เครือข่าย 5G
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ร้อยละ 0.59 ติดลบน้อยลง ตามหมวดพลังงาน จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาอาหารสดขยายตัวชะลอลง ด้านตลาดแรงงาน การจ้างงานโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นจากแรงงานในภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมทรงตัว สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่
ร้อยละ 1.3 ทรงตัวจากเดือนก่อน
ภาคการเงิน ยอดเงินฝากและสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินเดือนพฤศจิกายน 2563 ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยเงินฝากคงค้างยังอยู่ในระดับสูง ตามความต้องการรักษาสภาพคล่องของภาคธุรกิจและประชาชน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ทั้งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากมาตรการสินเชื่อของภาครัฐและการขยายระยะเวลาชำระหนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564