กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เจาะบ่อน้ำบาดาล ลึกได้มากกว่า 1 พันเมตรครั้งแรกของประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ จ.ขอนแก่น พบชั้นน้ำจืด คุณภาพดี สะอาดถึง 7 ช่วงชั้น เตรียมนำมาใช้แก้แล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ
วันที่ 3 พ.ย. 64 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ลงพื้นที่บ้านหินขาว หมู่ 15 ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการเจาะบ่อบาดาลลึก 1,000 เมตรหรือ 1 กิโลเมตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ แอ่งนครราชสีมา-อุบลราชธานี แอ่งอุดรธานี-สกลนคร และแอ่งเลย ซึ่งถือเป็นการเจาะบ่อน้ำบาดาลได้ในระดับความลึกที่มากที่สุดครั้งแรกของประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการนำ E – log หรือเครื่องหยั่งธรณีฟิสิกส์หลุมเจาะ หย่อนไปในบ่อที่เปิดปากหลุม 8 นิ้ว เพื่อวัดขนาดความลึกของบ่อและเก็บข้อมูลเพื่อนำมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ปรากฎว่า สามารถวัดได้ที่ขนาดความลึก 1,014 เมตรหรือลึกถึง 1 กิโลเมตรเศษ
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า “โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แอ่งนครราชสีมา-อุบลราชธานี แอ่งอุดรธานี-สกลนคร และแอ่งเลย เพื่อเจาะหาน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจาะสำรวจน้ำบาดาล ณ บ้านหินขาว ม.15 ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น และสามารถเจาะได้ลึกถึง 1,014 เมตร และพบชั้นน้ำบาดาลใหม่ ๆ หลายชั้น สลับกับชั้นน้ำกล่อยและน้ำเค็ม ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 180-190, 260-320, 540-550, 590-610, 750-770, 840-860 และ 970-990 เมตร โดยในชั้นที่พบน้ำบาดาลมากที่สุดคือ 540 – 600 เมตร สามารถนำมาใช้ได้ที่ 100 ลบ.เมตรต่อชั่วโมง
ขั้นตอนจากนี้ จะมีการทำบ่อที่เจาะพบชั้นน้ำที่ระดับความลึกกว่า 1 กิโลเมตรให้เรียบร้อยใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจากนี้ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลคุณภาพดี ศักยภาพสูง ขึ้นมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ให้กับประชาชน ใน ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน พร้อมทั้งเตรียมแผนขยายผลไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy) ได้แก่ จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ และ ศรีสะเกษ เป็นต้น ไม่ขาดน้ำ
“การเจาะบ่อน้ำบาดาลที่ระดับความลึกกว่า 1 พันเมตรหรือ 1 กิโลเมตร ถือเป็นความท้าทายของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อช่วยประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุกปี ประกอบกับสภาพพื้นที่บริเวณกลางแอ่งรองรับด้วยชั้นเกลือหินใต้ดิน ส่งผลให้ชั้นน้ำบาดาลมีคุณภาพกร่อย-เค็มในบางพื้นที่ อาทิ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เป็นต้น นอกจากนี้น้ำบาดาลยังกักเก็บในรอยแตกหรือรอยต่อของชั้นหินแข็งระดับลึก ภายใต้โครงสร้างทางธรณีที่ซับซ้อน ส่งผลให้การเจาะและพัฒนาน้ำบาดาลระดับตื้นมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนจากสารเคมีทางการเกษตรหรือแบคทีเรียได้ง่าย และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค ทำให้ขาดความมั่นคงด้านน้ำ ขาดโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น การที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถเจาะน้ำบาดาลได้ในระดับความลึกมากกว่า 1พันเมตรครั้งนี้ จะทำให้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการหมดไปจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำด้านอุปโภคบริโภค เศรษฐกิจ สังคม เกษตรกรรม และในภาคอุตสาหกรรมได้ในอนาคต” นายศักดิ์ดา กล่าว