แม่ทัพภาค 2 ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้พอเพียงที่ขอนแก่น แก้ปัญหาพื้นที่น้ำเสียให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและธนาคารอาหารที่สำคัญของจังหวัด

แม่ทัพภาค 2 ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้พอเพียงที่ขอนแก่น แก้ปัญหาพื้นที่น้ำเสียให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและธนาคารอาหารที่สำคัญของจังหวัด

วันที่ 24 พ.ย. 2564 ที่ศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียง บ้านโนนสวรรค์ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พล.ท.สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วย พล.ต.ศุภสิทธิ์ ชิตท้วม ผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบกทัพบก ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานมวลชน มณฑลทหารบกที่ 23 พร้อมทั้งร่วมปลูกผักเรดโอ๊คในศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียง และการร่วมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงและธนาคารอาหารหรือ Food Bank ของจังหวัดขอนแก่น

พล.ท.สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า การดำเนินงานด้านมวลชนในพื้นที่ ต.พระลับ อำเภอเมือง จ.ขอนแก่น มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้นำชุมชน นายวินัย ทองทัพ กำนันตำบลพระลับเป็นทุนปรัชญาเพื่อความมั่นคงในการขับเคลื่อนให้เกิดความต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจาก อบจ.ขอนแก่น ,เทศบาลตำบลพระลับ เครือข่ายผู้ใหญ่บ้านทั้ง 19 หมู่บ้านของตำบลพระลับ และ อาสาสมัครกิจการพลเรือนอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น ร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น

” ศูนย์การเรียนรู้ 19 พอเพียง อยู่บริเวณรอบบึงหนองอีเลิง หรือหนองเลิงเปือย บ้านโนนสวรรค์ เป็นพื้นที่รับน้ำเสียทั้งหมดจากเมืองขอนแก่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศรอบบึงและประชาชนที่อาศัยอยู่ เกิดกลิ่นเหม็น ไม่สามารถเพาะปลูกและทำประมงได้ รวมถึงพื้นที่ถูกทิ้งรกร้างเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง เครือข่ายมวลชนตำบลพระลับจึงได้ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียง ซึ่งมาจากความร่วมมือของประชาชน 19 หมู่บ้านของตำบลพระลับในการแก้ไขปัญหาบึงน้ำเสียหนองอีเลิงให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยใช้ศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการดำเนินงาน และได้รับการสนับสนุนการมณฑลทหารบกที่ 23 นำกำลังพลพัฒนาปรับปรุงพื้นที่”

แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวต่ออีกว่า พื้นที่การดำเนินงานแห่งนี้ได้มีการต่อยอดนำไปการขยายผลโครงการทหารพันธุ์ดี มีการนำเมล็ดพันธุ์จากโครงการมาเพาะต้นกล้าแจกจ่ายประชาชนรอบบึง และชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 23 ยังได้ร่วมกับอาสาสมัครกิจการพลเรือนในการจัดทำแผนป้องกันภัยชุมชน พระลับร่วมใจแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ดำเนินกรรมรณรงค์การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย และกิจกรรมเปลี่ยนน้ำเน่าให้เป็นเงิน โดยการผันน้ำเสียในบึงมาผ่านกระบวนการบำบัดโดยใช้น้ำตกประดิษฐ์ คลองไส้ไก่และพืชน้ำ นำมาใช้รดพืชผักได้ผลผลิตมาบริโภคและจำหน่าย อีกทั้งเป็นตัวอย่างการบำบัดน้ำเสียอย่างง่ายและใช้ประโยชน์จากน้ำเสียของประชาชนในพื้นที่ ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ แนวทางการดำเนินงานต่อไปจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ เป็น Food Bank ของจังหวัดจนนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น