มข.”เจ้าภาพ “3 พลังเพื่อแผ่นดิน
มข. จับมือ มอ. มช. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาขับเคลื่อนไทยเจตจำนงค์ที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ มีเป้าหมายในการสนับสนุนและพัฒนาความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประเด็น ต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการวิจัยและบัณฑิต การเรียนการสอนและพัฒนานักศึกษา การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการวางแผนและพัฒนา
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 ที่ ห้อง Grand Orchid Ballroom โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 6 โดยมี รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน ในการนี้มีผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน จาก 3 มหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ้น จำนวน 536 คน ร่วมกิจกรรม
สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” มีจุดเริ่มต้นจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. (Let’s walk together) โดยมีเจตจำนงค์ที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ มีเป้าหมายในการสนับสนุนและพัฒนาความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประเด็น ต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการวิจัยและบัณฑิต การเรียนการสอนและพัฒนานักศึกษา การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการวางแผนและพัฒนา การงบประมาณ การสร้างรายได้ ด้านการประเมินคุณภาพทางวิชาการ และการประกันคุณภาพสถาบัน รวมไปถึง การส่งเสริมบุคลากรให้มีการสร้างความร่วมมือ ระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 6 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 – 1 ธันวาคม 2565 ได้รับเกียรติจากท่าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นวิทยากรการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “University in the Future” และ ได้กำหนดหัวข้อในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ Research Utilization (การร่วมลงทุนสินค้าและบริการนวัตกรรม (Venture Capital (VC)/Spin off Company /Holding Company กลุ่มที่ 2 ด้านการบริหารต้นทุนองค์กรภายใต้วิกฤติและความท้าทาย กลุ่มที่ 3 การบริหารจัดการองค์กร ภายใต้ความแตกต่างระหว่างวัย กลุ่มที่ 4 การพัฒนานักศึกษา Generations ใหม่ กลุ่มที่ 5 The Future of Higher Education after Covid -19 กลุ่มที่ 6 การบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์การ เพื่อนำไปสู่ Digital Transformation กลุ่มที่ 7 เครือข่ายความร่วมมือความสุจริตทางวิชาการ (Academic honesty) กลุ่มที่ 8 ห้องสมุดดิจิทัล (Digital library)
ด้านรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับธงการเป็นเจ้าภาพ “มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 จึงไม่ได้จัดงาน ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอว่าจัดออนไลน์ดีไหม ด้วยเห็นว่าการจัดออนไลน์พวกเราจะไม่ได้รู้จักกันโดยตรง เพราะฉะนั้นขอเลื่อนให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นก่อนแล้วค่อยจัด กระทั่งวันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ 3 สถาบันได้มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง
“จากประสบการณ์ของผม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 สถาบัน ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย โดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับ ศาสตร์ด้านการบริหาร นอกจากนี้ กิจกรรมที่ทำในโครงการนี้ของ 3 สถาบัน ยังสอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development : HRD) ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของแทบทุกองค์กร โดยได้ระบุว่า ตอนนี้ 10% ใช้วิธีอบรมสัมมนาส่งคนไปเรียน 20% นั้นมาจาก learning from peers หรือ การเรียนรู้จากเพื่อน เพราะจะเรียนรู้ได้ลึกซึ้งกว่าการฟังบรรยาย ที่เหลือ 70 %เป็น on the job training การฝึกปฎิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และ แลกเปลี่ยนระหว่างกันสำคัญมาก ซึ่งในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้มี 8 หัวข้อจาก 3 สถาบัน โดยเป็นการนำเอาจุดเด่นแต่ละแห่งมาแลกเปลี่ยนกัน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของสถาบันตัวเองได้ ดังนั้นการที่ 3 สถาบันได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน กอปรกับการมีพื้นที่ครอบคลุมทั้ง เหนือ อีสาน ใต้ ของประเทศไทย จะนำไปสู่การพัฒนาสังคม และ ภาพกว้างในระดับประเทศอย่างแน่นอน” อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
ทั้งนี้โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 6 กิจกรรมประกอบด้วย พิธีเปิด ต่อจากนั้น ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงนโยบาย ทิศทางการขับเคลื่อนของแต่ละมหาวิทยาลัย และ การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “University in the Future” โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การแบ่งปันประสบการณ์/ความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมของคณะทันตแพทยศาสตร์ ระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย ในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามหัวข้อ 8 กลุ่ม ในช่วงค่ำ เป็นงานเลี้ยงรับรอง และ พิธีมอบธงการเป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งถัดไป โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับธงเป็นเจ้าภาพในครั้งที่ 7 และ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นการนำเสนอการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากทั้ง 8 กลุ่ม.