สธ ขอนแก่น เตือนผู้ปกครองระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิต ช่วงปิดเทอม

สธ ขอนแก่น เตือนผู้ปกครองระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิต ช่วงปิดเทอม

นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมเดือน มีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงอากาศร้อน เด็กๆ มักนิยมไปเล่นน้ำเพื่อคลายร้อน มักจะมีอุบัติเหตุจมน้ำบ่อยครั้ง โดยข้อมูลจากมรณบัตร พบว่า ปี 2565 จังหวัดขอนแก่น มีเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำ จำนวน 21 ราย แหล่งน้ำที่พบบ่อย คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ รองลงมาคือสระว่ายน้ำ และอ่างอาบน้ำ ปัจจัยเสี่ยงต่อการจมน้ำตายในเด็กและผู้ใหญ่มีความแตกต่างกัน โดยในกลุ่มเด็กเล็กมีความสัมพันธ์กับการดูแลของผู้ดูแลเด็ก ส่วนในเด็กโต มีความสัมพันธ์กับการเล่นน้ำ
นพ.อภิชัย กล่าวว่า การตกน้ำจมน้ำเป็นเรื่องที่ช่วยกันป้องกันได้ ดังนั้น ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม ควรให้ความรู้เด็ก ควรสร้างรั้วล้อมรอบแหล่งน้ำและติดป้ายคำเตือน รวมทั้งการจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ ส่วนมาตรการป้องกันการจมน้ำในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) คือ “เทน้ำ กั้นคอก ปิดฝา เฝ้าดูตลอดเวลา” กรณีเด็กอายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป คือ “ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล” แม้แหล่งน้ำมีน้ำเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่ในถังหรือกะละมังที่มีน้ำเพียง 1-2 นิ้วก็ตาม หากพบเห็นผู้จมน้ำสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669


การที่มีผู้จมน้ำเสียชีวิตมาก ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการช่วยเหลือผิดวิธี ทั้งในน้ำและหลังช่วยขึ้นมาแล้ว โดยเฉพาะการคิดว่าการอุ้มพาดบ่าและกระแทกเอาน้ำออกเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งในความจริง เป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากจะทำให้ผู้จมน้ำขาดอากาศหายใจนานขึ้น แต่ควรรีบเป่าปากและนวดหัวใจ เพื่อให้หายใจได้เร็วที่สุด ถ้าพบว่าหายใจเองได้หรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับผู้จมน้ำให้นอนตะแคง ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก และใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และรีบส่งผู้ที่จมน้ำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อพบคนตกน้ำต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แม้จะว่ายน้ำเป็น เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้ ให้ยึดหลัก 3 อย่างคือ 1. ตะโกน คือการเรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2. โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ
ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูร้อน กลางวันมีอากาศร้อนมาก เด็ก ๆ จะไปเล่นน้ำ เพื่อคลายร้อน จึงต้องระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด

 



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น