‘ธปท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ เตือน ภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของอีสาน

‘ธปท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ เตือน ภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของอีสาน

สัมภาษณ์ นาย.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

มีโอกาสเกิดสถานการณ์เอลนีโญมากขึ้น ทำให้ปริมาณฝนลดลง และอากาศร้อนกว่าปกติ เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบ อาทิ ปริมาณน้ำฝนสะสม 4 เดือนแรก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี สอดคล้องกับค่าความชื้นในดินที่อยู่ในระดับต่ำ และทั้งสองปัจจัยยังต่ำกว่าปี 62 ที่มีภัยแล้งรุนแรง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรอีสานในปี 66 และต่อเนื่องมายังปี 67″
วันนี้ 3 พ.ค. 2566 ที่ ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ริมบึงแก่นนคร เขตเทศบาลนครขอนแก่น ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.)ได้ แถลงข่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 1 ปี 2566 ยังไม่ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศ และทรงตัวจากไตรมาสก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ทรงตัว จากรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ยังเปราะบาง กอปรกับค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และการสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่เคยเป็นแรงพยุงสำคัญ ด้านการลงทุนหดตัวต่อเนื่องตามผลของเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลงสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้างจาก


การเบิกจ่ายภาคการคลังที่ขยายตัว
คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 ยังคงทรงตัว ตามภาคเกษตรที่ผลผลิตลดลงจากผลกระทบของน้ำท่วมในปีก่อนและภัยแล้งในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรปรับลดลง กอปรกับการผลิตเพื่อส่งออกที่ยังไม่ได้รับผลดีเมื่อเทียบกับการส่งออกของประเทศ
สำหรับการบริโภคภาคเอกชน
มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 จากปัจจัยพิเศษที่มีวันหยุดยาว วันหยุดพิเศษ และการเลือกตั้งในช่วงกลางปี แต่ครึ่งหลังของปี 2566 ยังเผชิญแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังอยู่ระดับสูงอย่างไรก็ดี ภาคการคลังที่ขยายตัวต่อเนื่องยังเป็นแรงสนับสนุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


ภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของอีสานในปี2566-2567ดร.ทรงธรรม มีความเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งปี 2566 ที่มีโอกาสจะเกิดสถานการณ์เอลนีโญมากขึ้น ทำให้ปริมาณฝนลดลง และอากาศร้อนกว่าปกติ เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบ อาทิ ปริมาณน้ำฝนสะสม 4 เดือนแรก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี สอดคล้องกับค่าความชื้นในดินที่อยู่ในระดับต่ำ และทั้งสองปัจจัยยังต่ำกว่าปี 62 ที่มีภัยแล้งรุนแรง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรอีสานในปี 66 และต่อเนื่องมายังปี 67 โดยเฉพาะข้าวนาปี และอ้อยโรงงาน ดังนั้น ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนควรเตรียมแผนรองรับ เช่น การบริหารจัดการน้ำ กักเก็บน้ำ และจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วพื้นที่อย่างเพียงพอ เนื่องจากอีสานมีข้อจำกัดของสภาพพื้นที่ในการสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งการปรับปรุงดินและปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการใช้น้ำและเพิ่มผลผลิต เช่น ระบบน้ำหยด นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของรายได้จากภัยแล้งกระทบต่อรายได้ภาคเกษตร เกษตรกรจึงควรระมัดระวังการใช้จ่าย และหารายได้เสริม เป็นต้น
สถานการณ์ภัยทางการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงไตรมาส 1/2566 สถิติการรับแจ้งคดีออนไลน์มีแนวโน้มลดลงจาก 24,208 รายในเดือน ม.ค. 66 เหลือ 20,864 รายในเดือน มี.ค. 66 ส่วนใหญ่เป็นการหลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ รองลงมาเป็นการหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานฯ และข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call center) ดังนั้น ประชาชนยังต้องระมัดระวังและติดตามข่าวสารการเตือนภัยอย่างสม่ำเสมอ.

 

 

 

 

 

 



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น