เครือข่ายแรงงานและเครือข่ายทางสังคม ๔๒ องค์กรยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ให้มีการปฏิรูปตำรวจ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน(คสรท.)สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)เครือข่ายแรงงานและเครือข่ายทางสังคม ๔๒ องค์กรยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ให้มีการปฏิรูปตำรวจ

เครือข่ายแรงงานและเครือข่ายทางสังคม ๔๒ องค์กรยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ให้มีการปฏิรูปตำรวจ

วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๐๐ น.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล องค์กรที่ใช้ชื่อว่า Police Watch Thailand ร่วมกับเครือข่ายแรงงานและเครือข่ายทางสังคม ๔๒ องค์กรยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มีการปฏิรูปสำนักงานตำรวจและภารกิจของตำรวจ เพราะเรื่องราวของตำรวจ ภารกิจและการกระทำของตำรวจโดยเรียกร้องนายกรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการปฏิรูปตำรวจเป็นตำรวจจังหวัด และแยกงานสอบสวนเป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางปฏิรูปตำรวจว่าควรปรับโครงสร้างเป็นตำรวจจังหวัด และพิจารณาเรื่องการ แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจนั้น เครือข่ายองค์กรประชาชน เห็นว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถือเป็นการปฏิรูประบบอย่างมีนัยสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจทุกระดับและการรับส่วยสินบน สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เนื่องจากงานของตำรวจทั้งหมดดำเนินการให้จบสิ้นได้ภายในจังหวัด และต้องประสานการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายปกครองซึ่งมีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ รวมทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรักความสงบเรียบร้อยในตำบลและอำเภอ หน่วยตำรวจจึงควรอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของหัวหน้าหน่วยการปกครองระดับจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัด และระดับอำเภอคือนายอำเภอสอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาตรา ๕๔ ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายต่างๆ ในจังหวัดและนายอำเภอเป็นหัวหน้าส่วนราชการอำเภอมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายต่างๆ ในอำเภอตามมาตรา ๖๒
ส่วนงานสอบสวนคดีอาญา ควรได้รับการปฏิรูปโดยแยกเป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็น “สำนักงานสอบสวนคดีอาญา” เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานสอบสวนตามมาตรฐานวิชาชีพในลักษณะเดียวกับพนักงานอัยการเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก

การดำเนินการในสองเรื่องดังกล่าวรวมทั้งการโอนตำรวจ ๙ หน่วย ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจจราจร ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ตำรวจปราบปราบความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี ไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมที่มีหน้าที่ตามกฎหมายตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘ และส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยเกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร็ว ถือว่า เป็นการปฏิรูประบบตำรวจให้มีความเป็นสากล และงานสอบสวนมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรภายนอก แก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ เช่น การรับส่วยสินบนของตำรวจผู้ใหญ่รวมทั้งการใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจผู้น้อยที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างร้ายแรงในปัจจุบันได้

เครือข่ายองค์กรประชาชน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีให้เร่งรัดดำเนินการดังกล่าว ซึ่งบางเรื่องสามารถกระทำได้ตามอำนาจของรัฐบาล เช่น การตราพระราชกฤษฎีกาโอนหน่วยตำรวจ หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการลงไปภายในจังหวัดได้ เมื่อผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการตรวจสอบติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัด(กต.ตร.)ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๐ เพื่อดำเนินการปฏิรูปตามแนวทางในมาตรา ๒๕๘ นายกรัฐมนตรีควรพิจารณาบุคคลผู้จะแต่งตั้งเป็นประธานและกรรมการทุกคน ต้องเป็นผู้ที่เห็นและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากระบบงานตำรวจในปัจจุบัน รวมทั้งมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและแนวความคิดในการปฏิรูปตำรวจเป็นตำรวจจังหวัดและการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศด้วย

องค์กรประชาชนที่มีรายนามท้ายจดหมายฉบับนี้ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรีบดำเนินการปฏิรูปตำรวจตามแนวทางดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง
๑.เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)
๒.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
๓.มูลนิธิเพื่อนหญิง
๔.คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕
๕.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
๖.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
๗.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
๘.สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
๙.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)
๑๐.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
๑๑.สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
๑๒.คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
๑๓.มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
๑๔.เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนนทบุรี
๑๕.มูลนิธิผู้หญิง
๑๖.สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.)
๑๗.มูลนิธิสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (มธ.สรส.)
๑๘.เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ ภาคประชาชน
๑๙.เครือข่ายสตรี 4 ภาค
๒๐.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN.)
๒๑.สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย
๒๒.มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ
๒๓.สำนักงานสุขภาวะและพัฒนาสังคม
๒๔.สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy Think Tank)
๒๕.เครือข่ายคุ้มครองสิทธิชุมชนและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จังหวัดสระแก้ว
๒๖.เครือข่ายศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ
๒๗.สหภาพเยาวชนแรงงาน (ํYoung Worker Union)
๒๘.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
๒๙.ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)
๓๐.เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)
๓๑.มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์
๓๒.เครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม
๓๓.สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
๓๔.วิทยุชุมชน ส่งเสริมเยาวชน ข่าวสารวัฒนธรรมและบันเทิง (๙๙.๒๕ และ ๙๗.๗๕)
๓๕.เครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กรุงเทพมหานคร (อพม.กทม.)
๓๖.เครือข่าย ปปส. พัฒนาร่วมใจ กทม.
๓๗.คณะทำงานส่งเสริมบทบาทหญิงชายในการพัฒนาจังหวัดพะเยา
๓๘.เครือข่ายแม่หญิงพะเยา
๓๙.สถาบันท้องถิ่นพัฒนาหรือ (LDI.)
๔๐.อมูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT.)
๔๑.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR.)
๔๒.เครือข่ายพลังทนายความเพื่อความเป็นธรรม



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น