สวนสัตว์ขอนแก่น ปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้กับสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน
สวนสัตว์ขอนแก่น จัดกิจกรรมปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ในกิจกรรมวันต้นไม้แห่งชาติ ประจำปี 2566 ณ บริเวณอ่างกักเก็บน้ำ ภายในสวนสัตว์ขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์สู่ธรรมชาติ และเป็นการสร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้กับเหล่าสัตว์ป่านานาชนิดที่อยู่ภายใต้การดูแลของสวนสัตว์ขอนแก่น รวมไปถึงสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติภายในเขต ที่ตั้งของสวนสัตว์ขอนแก่น ต้นไม้ที่นำมาปลูกในครั้งนี้เป็นต้นไม้ที่สามารถนำผลหรือใบมาใช้ประโยชน์ในการนำมาเป็นอาหารให้สัตว์ได้ อาทิเช่น ต้นขนุน ต้นหว้า และ ต้นมะขามเทศ โดยทางเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสัตว์นั้นจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือใบนำมาเป็นอาหารให้กับเหล่าสัตว์ป่านานาชนิด เพื่อเป็นการส่งเสริมการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ป่าเพิ่มความหลากหลายทางด้านโภชนาการด้านอาหารให้กับพวกเขา นอกจากนี้ยังได้มีการปลูกต้นยางนา และ ต้นประดู่ ที่เป็นไม้ยืนต้นเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์และร่มเงาให้กับบริเวณอ่างกักเก็บน้ำ ภายในสวนสัตว์ขอนแก่น
.
นายณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น ได้กล่าวว่า เนื่องจากในเดือนมิถุนายนนี้ เป็นเดือนที่มีวันสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลักๆ ถึง 2 วัน ได้แก่ วันต้นไม้แห่งชาติ ที่จะถูกจัดขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งภายในปีนี้ตรงกับวันที่ 3 มิถุนายน และ วันสิ่งแวดล้อมโลก ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ทำให้เราทุกคนนั้นต้องตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นทางสวนสัตว์ขอนแก่น จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของวันดังกล่าวและได้มีการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์สู่ธรรมชาติ และ ในกิจกรรมครั้งนี้นั้นได้มีการเน้นย้ำในการปลูกต้นไม้ที่สามารถนำผลผลิตหรือใบมาเป็นอาหารให้กับสัตว์ป่านานาชนิดได้ ได้แก่ “ต้นหว้า” ที่สามารถเก็บผลของลูกหว้านำมาเป็นอาหารให้กับเหล่าสมาชิกครอบครัวลีเมอร์หางแหวน หรือ การนำเอาใบของ “ต้นมะขามเทศ” มาเป็นอาหารให้กับเหล่าสมาชิกยีราฟและนกกระจอกเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ป่าทางด้านโภชนาการด้านอาหารให้กับพวกเขา เพื่อให้พวกเขานั้นได้มีสุขภาพที่แข็งแรงและได้รับสารอาหารที่หลากหลาย นอกจากนี้การทำเช่นนี้นั้นยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ธรรมชาติ ภายในสวนสัตว์ และสามารถช่วยลดต้นทุนเรื่องค่าอาหารที่ใช้ในการดูแลสัตว์ป่านานาชนิดอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย