‘สช.’ผนึกเครือข่ายพื้นที่สร้างสุขภาวะ ร่วมเรียนรู้ผ่านต้นแบบ ‘กลุ่มสามพราน’
สช.จัดโครงการอบรมหลักสูตรพัฒนา “เครือข่ายนักสานพลังสร้างสุขภาวะในพื้นที่” รุ่นแรก ระดมภาคีกลุ่มคนทำงานด้านสังคม ผนึกเป็นเครือข่ายการเรียนรู้-ขับเคลื่อนงานร่วมกันในระยะยาว พร้อมถอดแบบ “กลุ่มสามพราน” ชูเป็นกระบวนการความต่อเนื่องทางปัญญา ร่วมแก้ไขปัญหาสาธารณะมายาวนาน 37 ปี
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดกระบวนการ “การทบทวนตัวเองและเป้าหมายร่วมผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ภายใต้โครงการหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนักสานพลังสร้างสุขภาวะในพื้นที่ (คนส.) รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ที่เป็นที่รู้จักในแวดวงสุขภาพ หรือผู้ที่ทำงานร่วมกับภาคสุขภาพ และสร้างแรงบันดาลใจสู่การทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
สำหรับการจัดหลักสูตร คนส. ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการสร้างและพัฒนาศักยภาพคนทำงานกลุ่มใหม่ (New Cohort) ให้กับพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจที่ทำงานด้านสังคม ภาควิชาการ และคนทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีประสบการณ์การทำงานด้านสังคม รวม 30 คน เพื่อให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้และขับเคลื่อนงานร่วมกันระยะยาว ตลอดจนหนุนช่วยงานในพื้นที่ระหว่างเครือข่ายคนทำงานกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ ร่วมกับ สช. และภาคียุทธศาสตร์ ในการสร้างสุขภาวะในพื้นที่
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะในพื้นที่ อันเป็นภารกิจสำคัญของ สช. มีสถานการณ์และประเด็นท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงแบบพลวัต เกิดความตื่นตัวทางสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งแนวคิดและวิธีการของคนรุ่นใหม่และของทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมามีการสะสมประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับการเรียนรู้ แต่ยังพบข้อจำกัดในการสร้างและขยายเครือข่ายด้านการพัฒนาขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพของพื้นที่
ทั้งนี้ สช. และภาคียุทธศาสตร์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนักสานพลังสร้างสุขภาวะ ของคนทำงานกลุ่มใหม่จากหลายภาคส่วนในพื้นที่อย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ และสมรรถนะ การสร้างเครือข่าย การนำไปสู่การปฏิบัติ และการต่อยอดจากประสบการณ์การจัดหลักสูตรต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อให้ภาคีเครือข่ายมีจำนวนมากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาของการเกิดหลักสูตร คนส. ในครั้งนี้
นพ.ประทีป กล่าวว่า หนึ่งในตัวอย่างที่ให้เรียนรู้จากขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพของไทยที่สำคัญคือ ‘กลุ่มสามพราน’ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นจากจิตวิญญาณของกลุ่มแพทย์ชนบท และดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 37 มีการประชุมร่วมกันที่ถือเป็นกระบวนการทางความคิดแห่งยุคสมัย เป็นกระบวนการของผู้คนที่นำไปสู่การขับเคลื่อนอนาคต โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพหลายเรื่องที่เคยเกิดปัญหาขึ้นในยุคที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุหรี่ การแพทย์ฉุกเฉิน เชื้อเอชไอวี ฯลฯ แนวทางหลายอย่างมีส่วนเกิดขึ้นได้จากวงพูดคุยดังกล่าว
นพ.ประทีป ยังกล่าวอีกด้วยว่า ภารกิจหนึ่งของ สช. คือการรวบรวมคนทำงานให้เกิดเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตข้างหน้าที่เรื่องของการกระจายอำนาจ การกระจายฐานเข้าไปสู่ในพื้นที่จะมีมากขึ้น ดังนั้นหากเราสามารถรวบรวม สร้างเครือข่ายกลุ่มคนที่มีใจสาธารณะ และกำลังขับเคลื่อนงานในพื้นที่อยู่แล้ว ให้ได้มาเจอและแลกเปลี่ยนร่วมกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็งในระยะยาว ก็จะช่วยรองรับทิศทางในอนาคต สามารถทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นได้
“กลุ่มสามพรานเป็นผลผลิตของคนยุคสมัยหนึ่ง และอาจจบไปหากไม่มีการสานต่อของคนรุ่นใหม่ๆ ในกลุ่มจึงได้ร่วมกันพูดคุยถึงภารกิจรวบรวมคนทำงานในพื้นที่ ที่มีจิตใจสาธารณะ มีความหลากหลาย ให้ได้มาร่วม เจอ แลกเปลี่ยนกัน เพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญรองรับการกระจายอำนาจของการพัฒนา ที่จะลงไปอยู่ในระดับพื้นที่มากขึ้นในอนาคต” นพ.ประทีป กล่าว
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า วงประชุมของ ‘กลุ่มสามพราน’ ถือเป็นกระบวนการของความต่อเนื่องทางปัญญา โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่มีบทบาทหลักเป็นแพทย์ หรือคนที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งนับเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักในพื้นที่ เพราะมีหัวใจสำคัญคือเป็นผู้ที่รู้ความจริงของแผ่นดิน ประกอบกับวัฒนธรรมของกระบวนการพูดคุย ที่ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าไปตัดสินความคิดใคร หากแต่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของการนำความคิดที่ไม่เหมือนกันมาเจอกัน แล้วจึงเกิดเป็นสิ่งใหม่ๆ หรือนวัตกรรม
“การใช้อำนาจเหมือนกับเป็นมีดคม ที่เข้าไปชำแหละสิ่งที่เชื่อมโยงกันอยู่ให้แยกออกเป็นส่วนๆ ทำให้ที่ผ่านมาเราเจอกับความคิด การทำแบบแยกส่วนกัน เปรียบเสมือนการขาดชีวิต ที่ทำให้เรียนรู้ไม่ได้ เติบโตต่อไปไม่ได้ ดังนั้นการมีชีวิตคือการทำให้เกิดความเชื่อมโยงกัน เรียนรู้ และเติบโตต่อเนื่องไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขณะนี้ที่เป็นการเมืองรูปแบบใหม่ ภายใต้อุดมการณ์ ความคิดใหม่ๆ การเติมในส่วนความเป็นจริงของแผ่นดินเข้าไปได้ จะช่วยให้การเดินหน้าของเขาประสบความสำเร็จ” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ ยังกล่าวด้วยว่า กลุ่มของแพทย์ชนบท หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน จะถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ หากสามารถทำให้เกิดความเชื่อมโยงของภาพในระดับอำเภอ บูรณาการให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน ปฏิบัติจากสถานการณ์จริงในพื้นที่ โดยมีตัวโรงพยาบาลชุมชนเป็นหลัก หรืออาจเรียกเป็นมหาวิชชาลัยอำเภอ แล้วดึงให้ผู้คนได้ร่วมกันเรียนรู้ความจริงของแผ่นดิน จะถือเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศได้มาก ในแบบที่ระบบการศึกษาไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้หน่วยงานตระกูล ส. เข้ามาช่วยกันดูเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น
ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้นำเสนอตอนหนึ่งในหัวข้อการบรรยาย “37 ปี บนเส้นทางสามพราน กับกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ” ระบุว่า จากจุดเริ่มต้นของปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนปี 2475 จากปัญหาความขาดแคลนบริการสาธารณสุขในชนบทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความพยายามแก้ไขปัญหา หนึ่งในนั้นคือการดึงนักศึกษาแพทย์ให้เข้ารับราชการ ด้วยวิธีการบังคับทำสัญญารับ-ใช้ทุน จึงเป็นที่มาของการเกิด ‘ขบวนการแพทย์ชนบท’ ขึ้น หลังจากนั้นก็มีการก่อเกิด ‘กลุ่มสามพราน’ ตามมา
นพ.วิชัย กล่าวว่า ด้วยกระบวนการพูดคุยภายใต้การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ทำให้วงของกลุ่มสามพราน กลายเป็นเวทีวิชาการ เป็นกลไกความต่อเนื่องของปัญญา บนยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ด้วยการใช้ความรู้ การขับเคลื่อนสังคม และการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลง จนสามารถผลักดันผ่านกระบวนการทางนโยบาย ที่ทำให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไปได้มากมาย