“ศวปถ.”ร่วมมือภาคีเครือข่าย 8 อำเภอขอนแก่น ยกระดับการจัดการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพ

“ศวปถ.”ร่วมมือภาคีเครือข่าย 8 อำเภอขอนแก่น ยกระดับการจัดการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพ

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและวางแผนขับเคลื่อนกลไกการจัดการข้อมูลระดับจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น)เพื่อยกระดับการจัดการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่ ห้องมงกุฎเพชร 1 ชั้น 2 โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและวางแผนขับเคลื่อนกลไกการจัดการข้อมูลระดับจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น) โดยมี นางสาวเพ็ญนภา พรสุพิกุล หัวหน้าฝ่ายวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเลขาธิการมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย นางศิริพร รัตนทัศนีย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด คณะทำงานข้อมูลระดับจังหวัด และอำเภอ และภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟัง


นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและวางแผนขับเคลื่อนกลไกคณะทำงานการจัดการข้อมูลอุบัติเหตุระดับจังหวัดและอำเภอเสี่ยง ในเขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งจังหวัดขอนแก่นได้รับเกียรติจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ให้เป็นพื้นที่ ดำเนินการขับเคลื่อนกลไกการจัดการข้อมูลระดับจังหวัดและอำเภอ อันเป็นวัตถุประสงค์ของการประชุมนี้จากที่ทุกท่านทราบ “อุบัติเหตุทางถนน” เป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และชีวิต ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน มากถึง 17,379 คน คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิตถึง
ร้อยละ 26.65 ซึ่งมากกว่าปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่ แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 ได้กำหนดตัวขี้วัดและมาตรการแนะนำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วยวิสัยทัศน์
“มุ่งสู่การสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” โดยมีพันธกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ การสร้างรากฐานการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืนผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การปรับปรุงข้อกฎหมายและการติดตามประเมินผลที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความปลอดภัยทางถนน ทั้งภาคส่วนราชการ เอกชน และภาคประชาสังคม เชื่อมโยงกันทั้งส่วนกลาง จังหวัด อำเภอ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยเหตุนี้ ผมจึงมีความเชื่อมั่นว่า การประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ และวางแผนขับเคลื่อนกลไกการจัดการข้อมูลระดับจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น) จะเป็นต้นแบบกลไกการหนุนเสริมกลไกการจัดการระดับพื้นที่ กล่าวคือ เกิดคณะทำงานจัดการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนทั้งในระดับจังหวัดและในอำเภอเป้าหมาย ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอชุมแพ อำเภอหนองเรือ อำเภอน้ำพอง อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด อำเภอกระนวน และอำเภอพล เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในที่ประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน
และขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป.


ด้าน นางสาวเพ็ญนภา พรสุพิกุล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ขอขอบคุณท่านชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมในวันนี้
สืบเนื่องจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ภายใต้มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย จากการสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีจุดมุ่งหมายในการสร้างต้นแบบการใช้กลไกจัดการระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์สำคัญ กล่าวคือ การขับเคลื่อนกลไกคณะอนุกรรมการจัดการข้อมูล เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในที่ประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้พิจารณากำหนดจังหวัดขอนแก่น และอำเภอเสี่ยงสูง 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอชุมแพ อำเภอหนองเรือ อำเภอน้ำพอง อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด อำเภอกระนวนและอำเภอพล เพื่อยกระดับการจัดการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพ.



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น