สภ.กระนวน จับมือ ร.ร.ศรีกระนวน ติวเข้ม!กลโกง ผ่านสื่อออนไลน์ (ไซเบอร์วัคซีน)
สภ.กระนวน พร้อมด้วยคณาจารย์โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แนะนำให้ความรู้การป้องกันกลโกงของมิจฉาชีพผ่านสื่อออนไลน์ (ไซเบอร์วัคซีน)
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่นรายงานว่า ที่ โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น พ.ต.อ.ประศาสตร์ แน่นอุดร ผกก.สภ.กระนวน พร้อมด้วยคณาจารย์โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แนะนำให้ความรู้การป้องกันกลโกงของมิจฉาชีพผ่านสื่อออนไลน์ (ไซเบอร์วัคซีน)โดยมีนักเรียนแกนนำกลุ่ม Piggy bank, นศท.ชุมนุมรักษาดินแดน และนักเรียนชมรมทูบีนัมเบอร์วัน เข้ารับฟังการบรรยาย และจะมีการขยายผลต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อีกต่อไป
พ.ต.อ.ประศาสตร์ แน่นอุดร ผกก.สภ.กระนวน กล่าวว่าการให้ความรู้การป้องกันกลโกงของมิจฉาชีพผ่านสื่อออนไลน์ (ไซเบอร์วัคซีน)ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องบนโลกออนไลน์ ที่ทำให้คนเสพข่าวสารต่างๆ ถึงกับหดหู่ปนหวั่นใจกับกลโกงรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะประเด็น ‘การโดนโกงจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์’ ซึ่งบางกรณีพบว่ามีผู้เสียหายจำนวนมาก อีกทั้งยังคร่าชีวิตคนได้หากผู้ประสบปัญหาไม่เห็นทางออก ดังนั้นในยุคดิจิทัลที่คนไทยมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น 150% ในรอบ 10 ปี การรู้จักหนทางรอดจากปัญหาออนไลน์ รู้ทันกลโกงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และรู้จักช่องทางร้องเรียนปัญหาดีกว่าบ่นโพสต์อย่างไม่มีทางออก จึงเป็นวิธีการที่ดี ทำได้ทันที เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และอยู่ร่วมกันบนโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยอีกด้วย
พ.ต.อ.ประศาสตร์ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันการซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่หากไม่ระมัดระวังก็อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้โดยรูปแบบที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวง มีดังนี้1.การซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระที่เมื่อผ่อนงวดแรกไปแล้ว ลูกค้าถูกเชิดเงินหนี มักเกิดเหตุกับสินค้าราคาสูง เช่น ทองคำ โทรศัพท์มือถือ2.การซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ แต่สินค้าที่ได้รับชำรุด3.การซื้อสินค้าแบบ Pre-order โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า4.การถูกฉ้อโกงจากวิธีเก็บเงินปลายทาง ได้รับสินค้าปลอม5.การใช้บัญชีที่สวมรอย หลอกลวงให้โอนเงิน และ 6.การแจกสินค้าฟรี แต่เรียกเก็บเงินค่าจัดส่ง โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า ซึ่งการหลอกขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะเช่นนี้ นอกจากจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.341 ฐานฉ้อโกงแล้ว ยังจะเข้าข่ายมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกด้วย
“จึงขอฝากเตือนผู้ที่จะซื้อสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อ ซึ่งหากท่านใดที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ ขอให้ท่านรวบรวมพยานหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย”พ.ต.อ.ประศาสตร์ กล่าว.