สมาคมเครือข่ายสื่อฯ.อีสาน ประสานมือ มรภ.อุบลฯ และหอการค้าอุบลฯ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง “รู้เท่าทันสื่อ” ไม่ตกเป็นเหยื่อสื่อออนไลน์

สมาคมเครือข่ายสื่อฯ.อีสาน ประสานมือ มรภ.อุบลฯ และหอการค้าอุบลฯ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง “รู้เท่าทันสื่อ” ไม่ตกเป็นเหยื่อสื่อออนไลน์

สมาคมเครือข่ายสื่อฯ ภาคอีสาน ร่วมกับ ม.ราชภัฎอุบลฯ และหอการค้าจังหวัดอุบลฯ จัดโครงการพัฒนาทักษะเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น ภาคอีสาน “รู้เท่าทันสื่อ ไม่หลงเชื่อโฆษณา”ระหว่างวันที่ 26 – 27 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยมี พล.อ.นิรุทธ เกตุสิริ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นประธานมอบเกียรติบัตรและบรรยายพิเศษ และ รศ.สนธยา เกาะสมบัติ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวเปิดการอบรม คณะวิทยากรได้รับเกียรติจาก ดร.ปณิสญา อธิจิตตา อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ,นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ,คุณธัญวรัตน์ ศิริพานทอง กรรมการ บริษัท เบน เบน ฟู๊ด จำกัด ,นายทองวรรณ จิตโชติ นายก อบต.โนนสัง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ,อาจารย์จำรัส จันทนาวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์แมนรัตน์ แปลกลำยอง ผู้อำนวยการกิจกรรมการตลาดดิจิทัล บริษัท ซูพรีโม จำกัด ในเครือสยามพิวรรธน์ โดยมี นักศึกษา ผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมโครงการรวม 158 คน

พล.อ.นิรุทธ เกตุสิริ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสื่อออนไลน์ มีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทข่าวสาร ติดตามกระแสหรือเทรนด์ต่าง ๆ และสื่อออนไลน์ มีความสะดวกสบายในการใช้งาน เข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนนิยมใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งสื่อออนไลน์นับว่าเป็นดาบสองคม ที่อาจเกิดจากการลอกเลียนแบบ ส่งผลเสียต่อตนเองและคนรอบตัวได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อออนไลน์มีแต่ผลเสีย บางครั้งการอ่านข่าวหรือตามกระแสต่าง ๆ อาจเป็นการช่วยเตือนภัยหรือทำให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้น แค่เรามีโทรศัพท์เครื่องเดียว ก็สามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี หากเราเอาสื่อออนไลน์มาใช้ในทางที่ดี มันก็จะเกิดประโยชน์อย่างมาก สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับเราได้ การใช้งานสื่อออนไลน์ ควรจะระมัดระวังตัวเองเสมอ เพราะเป็นเหมือนดาบสองคน ถ้าเราเอาไปใช้ในทางที่ผิดมันก็เกิดผลเสียกับเรา แต่ถ้าเราเอาไปใช้ในทางที่ถูก มันก็เป็นประโยชน์มากมายเหมือนกัน อยู่ที่คนใช้ว่ามีจุดประสงค์อะไรในการใช้สิ่งนี้

รศ.สนธยา เกาะสมบัติ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า การเข้าถึงสื่อออนไลน์ในปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น เป็นโอกาสดีในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ แต่หากเราใช้สื่อออนไลน์โดยไม่รู้จักไตร่ตรอง ก็อาจเป็นอันตรายได้ สังคมสื่อออนไลน์ นอกจากจะเป็นพื้นที่ไว้สนทนาหรืออัปเดตข่าวสารต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่ดีเยี่ยมอีกช่องทางหนึ่ง แต่การจะทำให้ประสบความสำเร็จนั้น เราต้องมีการศึกษาข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยง และเพื่อให้รู้แนวทางว่าควรทำอย่างไรบ้าง เพื่อเพิ่มช่องการขาย ขยายตลาด และเพิ่มยอดสั่งซื้อของลูกค้าที่จะเข้ามาชม ช่องทางในการสั่งซื้อสินค้า และสร้างนักขายของออนไลน์ ซึ่งในการจัดการอบรมครั้งนี้ ก็ได้วิทยากรที่ทรงคุณวุฒิ และเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมาให้ความรู้ ขอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านได้เก็บเกี่ยวความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ที่ท่านวิทยากรได้นำมาเสนอและเรียนรู้ ขอให้การอบรมทั้ง ๒ วัน เป็นการอบรมที่เต็มไปด้วยความรู้ ความชำนาญการ เพื่อที่ผู้เข้ารับการอบรมจะได้นำไปต่อยอด สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวต่อไป

พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน (ส.นวอ.อีสาน) เปิดเผยว่า ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว สื่อออนไลน์ทำให้คนเข้าถึงกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ไกลขนาดไหนก็ตาม สามารถที่จะติดต่อกันได้ และดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลมากที่สุดกับคนในยุคนี้ ถ้าเอาไปใช้ในทางที่ดี ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าเอาไปใช้ในทางที่ไม่ดี ก็สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างมหันต์ เราจะเห็นเด็กวัยรุ่นมากมาย มีปัญหากับเรื่องสื่อโซเชียล ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น